Close this window

เติมลมยางด้วย "ไนโตรเจน" อีกที
ช่วงนี้หากสังเกตดีๆ จะเห็นมีป้าย ติดอยู่หน้าสถานีเติมน้ำมัน และร้านรับเปลี่ยน ยางรถยนต์เขียนบอกว่า "บริการเติมลมไนโตรเจน" ชวนให้นึกสงสัยว่ามันคืออะไรกัน

ปกติแล้วรถยนต์ที่ใช้ไนโตรเจนเติมลมยางนั้น จะมีใช้กันเฉพาะในการแข่งรถฟอร์มูล่าวัน ที่ขึ้นชื่อว่า เป็นการแข่งรถท้ามัจจุราช หากพลาด เพียงนิดเดียวอาจหมายถึงชีวิต ความเร็วจากการ แข่งรถที่วิ่งกันเป็น เวลานานจะสะสมความร้อนให้กับยางรถ ซึ่งหากการควบคุมอุณหภูมิ ภายในยางและเนื้อยางไม่ดีพอ ยางอาจระเบิดได้ง่ายๆ

เหตุที่นักแข่งรถใช้ก๊าซไนโตรเจนเติมยาง ก็เพราะไนโตรเจนล้วนๆ มีความชื้นน้อยกว่า อากาศทำให้อัตรา การขยายตัวหรือหดตัว ค่อนข้างแน่นอน กว่าเมื่อเทียบกับอากาศปกติ ปกติแล้ว แรงดันลมครึ่งปอนด์ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการบังคับ และการควบคุมรถ นอกจากนี้ อุณหภูมิถนน และยางรถยนต์ ยังมีความแตกต่างกันในระหว่างการแข่งขัน ดังนั้น อุณหภูมิที่คงที่จากการใช้ลมไนโตรเจน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนเหตุที่แรงดันของไนโตรเจนมีความเสถียรกว่าอากาศปกตินั้น เนื่องจากอากาศปกติจะมีปริมาณ ของไอน้ำอยู่แตกต่างกัน เพราะความ ชื้นสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างการแข่งรถ เจ้าน้ำนี่เองที่เป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้อากาศปกติมีอัตราขยายตัว และหดตัวไม่คงที่ ด้วยเหตุนี้ การแข่งขันในพื้นที่ที่มีความชื้น อย่างใน ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของสหรัฐ หรือในการแข่งในพื้นที่แห้งแถบทะเลทราย ทางภาคตะวันตก ของสหรัฐก็อาจส่งผล ที่ไม่คาดคิด ได้กับแรงดันลม ของยางรถได้หากทีมแข่งขันไม่ได้ใช้ไนโตรเจนแห้งเติมลม

ที่นี้ร้านซ่อมและจำหน่ายยาง มองว่า แนวทาง ดังกล่าวน่าจะเป็นบริการเสริมรูปแบบใหม่ได้ สถานีให้บริการน้ำมัน และร้านเปลี่ยนยางหลายแห่งจึงเริ่ม ให้บริการเติมลมยางด้วยก๊าซไนโตรเจนกัน

นายธีระ ทวีสัตย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จันทร์เกษม อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้นำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับซ่อมบำรุงรถยนต์ กล่าวว่า อุปกรณ์เติมลมยาง ด้วยไนโตรเจน เป็นเครื่องผลิตไนโตรเจน (Nitrogen generator) ที่สามารถสกัด ออกซิเจนออกจากอากาศให้เหลือเฉพาะไนโตรเจนได้

อุปกรณ์ชิ้นนี้ ใช้ร่วมกับเครื่องปั๊มลมปกติทั่วไป หลักการทำงานก็เพียงแต่อัดอากาศเข้าถัง และปล่อยออกมาตามสายที่ต่อเข้ากับเครื่องกรอง ซึ่งจะมีตัวกรอง 3 ชั้น โดยชั้นแรก จะทำหน้าที่กักน้ำ ฟองลม และฝุ่น ชั้นที่ 2 กรองลมให้บริสุทธิ์มากขึ้น และชั้น 3 สกัดออกซิเจนออกให้เหลือไนโตรเจนราว 95-98%

ปกติอากาศทั่วไปที่เราหายใจเข้าไป จะมีส่วนผสมของก๊าซไนโตรเจนอยู่ 78% ที่เหลือจะเป็นออกซิเจนและก๊าซอื่นๆ อุปกรณ์เติมไนโตรเจน ที่บริษัทนำเข้ามาจำหน่ายนั้น มี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบเคลื่อนที่ที่สามารถเติมลมยางได้ราว 20 เส้นต่อชั่วโมง และแบบติดตั้งเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเติมลมยางได้มากกว่าที่ระดับ 80-90 เส้นต่อชั่วโมง

ขั้นตอนการเติมไนโตรเจนนั้น จะเริ่มด้วยการปล่อยลมเก่าออกให้หมด และเติมไนโตรเจนเข้าไปจนเต็มพื้นที่เพื่อไล่ลมเก่าที่ตกค้างอยู่ จากนั้นก็ปล่อยลมออกอีกครั้ง และเติมก๊าซไนโตรเจนเข้าไปใช้เวลาราว 10 นาทีก็แล้วเสร็จ ที่สำคัญ ผู้ให้บริการจะเปลี่ยนจุกลมยางจากสีดำปกติ ให้เป็นสีเขียว เพื่อแสดงให้รู้ว่ารถคันนี้เติมลมยางด้วยไนโตรเจน

สำหรับข้อดีของการใช้ก๊าซไนโตรเจนเติมลมยางมีหลายประการ อาทิ ลดปัญหาเรื่องยางระเบิด ขณะขับขี่ยานยนต์ในระยะไกล เนื่องจากไนโตรเจนจะไม่ร้อน และไม่ขยายตัวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น ยางจะไม่ร้อนขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ความดันอากาศภายในยางสม่ำเสมอ ทำให้ขณะขับขี่รู้สึกนุ่มนวล ลดเสียงดังของยางเวลาบดถนนตรงรอยต่อ หรือเส้นขณะที่ใช้ ยืดอายุการใช้งานของยาง การสึกหรอของดอกยางลดน้อย

นอกจากนี้ ทางผู้ให้บริการ ยังกล่าวว่า การเติมลม ด้วยก๊าซไนโตรเจนจะช่วยลดการสั่นสะเทือนของตัวถังรถขณะที่รถวิ่งได้นุ่มนวลขึ้น เวลารถวิ่ง ทำให้ยึดเกาะถนนดีขึ้นและปลอดภัยสูงขึ้น วิ่งเข้าโค้งดีขึ้น ลดความชื้นภายในยางรถยนต์ โดยทั่วไปแล้วการเติมลม ปกติจะมีออกซิเจนปะปน อยู่ภายใน ยางรถยนต์ ซึ่งจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ทำให้ยางเสื่อมเร็ว พร้อมกับเกิดสนิมที่กระทะล้อ นอกจากนี้ ยังไม่ต้องตรวจเช็คลมยางบ่อยครั้ง เพราะลมยางจะไม่เพิ่มหรือลดในขณะที่รถวิ่งหรือจอดอยู่

อย่างไรก็ตาม บริการดังกล่าวอาจมีให้เห็นไม่มากนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่งนำเข้ามาได้ 2 ปี และมียอดจำหน่ายไปแล้วราว 100 เครื่อง ส่วนใหญ่ จะมีให้บริการในพื้นที่เขตชานเมืองมากกว่า

เจ้าของร้านเปลี่ยนยางแห่งหนึ่งในย่านบางบัวทอง ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่นำผลิตภัณฑ์นี้มาให้บริการกับลูกค้า กล่าวว่า จุดเด่นของอุปกรณ์เติมลม ไนโตรเจน อยู่ตรงที่เป็นความแปลกใหม่ แต่อาจมีปัญหากับลูกค้ารุ่นเก่าบ้างที่ยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ อัตราค่าบริการเส้นละ 50 บาท ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายคนชั่งใจอยู่

ขณะที่เจ้าของสถานีให้บริการน้ำ มันคาลเท็กซ์แห่งหนึ่งบนถนนรัตนาธิเบศร์ มองว่า บริการใหม่นี้ เป็นจุดขายที่ดี และเป็นบริการเสริมที่น่าจะนำมา ใช้ในปั๊มน้ำมัน เนื่องจากไนโตรเจนที่ได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม สามารถสกัดออกมาจากอากาศได้ตลอดเวลา ที่สำคัญช่วยผู้บริโภค ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และเสริมสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ได้

"สิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้หลังจากเปลี่ยนมาใช้ก๊าซไนโตรเจน คือ ความนุ่มและความยืดหยุ่นของยางขณะเคลื่อนตัว ข้ามทางลูกระนาด และไม่ต้องตรวจลมยางบ่อยๆ เหมือนการเติมลมในรูปแบบเดิม" หนุ่มใหญ่เจ้าของปั๊ม กล่าว

คัดลอกมาจาก : http://www.bangkokbiznews.com/scitech/2003/0313/index.php?news=p2.html
โดย: เต่าฟ้า   วันที่: 30 Nov 2004 - 13:25


 ความคิดเห็นที่: 1 / 9 : 020306
โดย: เต่าฟ้า
ควรเติม ไนโตรเจน ไหม ?


เรารับรู้เรื่องความดีของไนโตรเจนกันมาแล้ว ปัจจุบันนี้มีสถานบริการยางรถยนต์จำนวนมาก ที่ขึ้นป้ายรับบริการเติมไนโตรเจนให้กับยางรถยนต์ทั่วไป และจากราคาค่าเติมประมาณล้อละสองร้อยบาทในอดีต ราคาค่าเติมในปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณห้าสิบบาทต่อล้อเท่านั้น จึงมีคำถามเกิดขึ้นกับคนที่ได้รับรู้ถึงข้อดีของ ก๊าซไนโตรเจนว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ควรหันมาใช้ไนโตรเจนเติมเข้าไปในยางกันจะไม่ดีกว่าหรือ ?”
จากคำถามดังกล่าวคงต้องมาค่อยๆหาคำตอบกันว่า รถยนต์ที่จะเติมไนโตรเจนเข้าไปในยางได้อย่างเหมาะสมนั้นควรเป็นรถยนต์ประเภทไหนบ้าง เริ่มต้นที่รถแข่งเฉพาะรถที่ทำการแข่งขันบนทางเรียบคล้ายๆกับรถแข่งในสนามเหมือนรถสูตรหนึ่งทั่วไป เพราะแรงดันลมยางจะๆได้คงที่ทำให้สามารถทำความเร็วสูงๆได้ดี แต่ไม่เหมาะกับรถแข่งชนิดที่แข่งในทางขรุขระแบบแรลลี่ เพราะไนโตรเจนเป็นก๊าซเบากว่าอากาศ หากขอบยางไม่สนิทหรือมีรอยรั่วเพียงเล็กน้อย ไนโตรเจนจะรั่วออกจากยางเร็วกว่าอากาศปรกติ
รถยนต์ที่ต้องใช้งานเป็นระยะทางยาวไกลต่อเนื่องเช่นรถโดยสารระหว่างจังหวัด หรือรถยนต์ที่ต้องไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างตรงต่อเวลาพลาดไม่ได้ เช่นรถบรรทุกสินค้าสด หากจะใช้ก๊าซไนโตรเจนเติมในยางก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
แต่สำหรับรถยนต์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันตามปรกติ การใช้ลมหรืออากาศปรกติเติมเข้าไปในยางก็เพียงพอแล้ว เพราะประหยัดค่าเติมไนโตรเจนได้ครั้งละหลายร้อยบาท ส่วนสาเหตุของการเกิดสนิมที่กระทะล้อก็ไม่ต้องห่วง เนื่องจากกระทะล้อรถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ผลิตขึ้นจากโลหะชนิดพิเศษจำพวกแมกนีเซียมอัลลอยด์ ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันสนิมได้ด้วยตนเองในระดับดี
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคุณสมบัติของก๊าซไนโตรเจนเอง ที่นอกจากจะเบากว่าอากาศแล้ว ยังไวไฟมากกว่าอากาศปรกติหลายเท่าด้วย ดังนั้นหากมีการเติมก๊าซไนโตรเจน เมื่อเกิดอุบัติเหตุและมีไฟลุกไหม้ขึ้นมา ก๊าซไนโตรเจนในยางจะเป็นจุดอันตรายอีกจุดหนึ่งนอกเหนือไปจากน้ำมันเชื้อเพลิงในถัง ครับ


By: Pattanadesh Asasappakij
วันที่: 01 Dec 04 - 09:25

 ความคิดเห็นที่: 2 / 9 : 020308
โดย: เต่าฟ้า
ไนโตรเจนดีอย่างไร...?


เรารู้กันแล้วว่าข้อบกพร่องของการนำเอาลมหรืออากาศที่ลอยอยู่รอบตัวเรามาใส่หรือบรรจุไปในยางนั้น มีอย่างไรบ้าง และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเราคิดหาสิ่งอื่นหรือก๊าซอย่างอื่นมาเติมลงไปในยางแทนที่อากาศ ซึ่งได้ผลสรุปออกมาที่ ก๊าซไนโตรเจน ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งก็คงจะมีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่า แล้ว ไนโตรเจน มันดีอย่างไร
เรามาทำความรู้จักเจ้า ก๊าซไนโตรเจนกันก่อน ตามคุณสมบัติที่เป็นจริงอย่างคร่าวๆของมันก็คือ เป็นก๊าซที่เบากว่าอากาศและถูกจัดว่าเป็นก๊าซชนิดไวไฟชนิดหนึ่ง
ในการนำเอาไนโตรเจนเข้ามาบรรจุไว้ในยางนั้น ฝ่ายสนับสนุนมีข้ออ้างบอกเอาไว้ว่า ไนโตรเจนที่นำมาบรรจุนั้น ปลอดจากไฮโดรเจน และ ออกซิเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่มีปะปนอยู่ในอากาศทั่วๆไป ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้น ไฮโดรเจนสองส่วนเมื่อรวมกับออกซิเจนหนึ่งส่วน จะกลายเป็นน้ำขึ้นมาทันที ดังนั้นเมื่อเป็นก๊าซไนโตรเจนที่ปลอดจากไฮโดรเจนและออกซิเจนแล้ว โอกาสที่จะมีน้ำมาทำให้เกิดสนิมขึ้นที่กระทะล้อก็หมดไป
หยดน้ำที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไปมาในยาง และเกิดจากการวมตัวของ ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน นั้น นอกจากจะทำให้เกิดสนิมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากคือ หยดน้ำที่รวมตัวกันเป็นลักษณะคล้ายกับหัวแหวนตามขอบยางด้านในนั้น ทำให้เกิดน้ำหนักที่ไม่ได้ดุลในขณะล้อหมุน หรือทำให้เกิดปัญหาล้อสั่นพวงมาลัยสั่นขณะรถวิ่งนั่นเอง ดังนั้นเมื่อไนโตรเจนไม่มีปัญหาเรื่องหยดน้ำ ปัญหาเรื่องล้อสั่นและพวงมาลัยสั่นก็ลดน้อยลงไปหรือไม่มีเกิดขึ้นด้วย
ปัญหาการรั่วซึมของยางก็เกิดขึ้นน้อยลงเมื่อใช้ไนโตรเจน และการเปลี่ยนแปลงแรงดันลมในยางขณะใช้งานที่พบอยู่บ่อยๆก็มีน้อยลง ทำให้สามารถใช้งานยางรถยนต์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะทางไกลๆได้โดยไม่ต้องจอดพักรถเพื่อให้ความร้อนสะสมภายในยางลดลง
ซึ่งความร้อนสะสมนี้เองที่พบว่าเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดยางระเบิดขึ้นมา ไนโตรเจนจึงเท่ากับลดปัญหายางระเบิดขณะใช้งานได้ด้วยครับ


By: Pattanadesh Asasappakij
วันที่: 01 Dec 04 - 09:26

 ความคิดเห็นที่: 3 / 9 : 020309
โดย: เต่าฟ้า
ทำไมต้องเป็น...ไนโตรเจน ?


ปัจจุบันนี้ผู้ใช้รถมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆที่นำมาใช้กับรถยนต์กันมากขึ้น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ก็มีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆเข้ามากขึ้นทุกวัน ในเรื่องของยางรถยนต์ก็เช่นกัน นอกเหนือไปจากตัวยางจะมีการพัฒนามากขึ้นทุกๆด้านแล้ว สิ่งที่เกี่ยวข้องกับยางก็มีการพัฒนาตามมาด้วย เช่น เรื่องของลมที่ถูกบรรจุเข้าไปภายในยางเป็นต้น
ยางในระยะแรกยังเป็นยางตันที่ไม่ต้องการสิ่งใดๆบรรจุเอาไว้ ต่อมาเมื่อมีการเรียนรู้กันว่า ข้อจำกัดของยางตันคือเรื่องความนุ่มนวลที่น้อยเกินไป และการสึกหรอสูงบวกกับการยึดเกาะถนนต่ำ เพราะแก้มยางและหน้ายางไม่สามารถขยับตัวช่วยเพิ่มพื้นที่สัมผัสกับพื้นถนนได้ จึงมีการคิดค้นยางในขึ้นมาเพื่อกักเก็บลมเอาไว้ช่วยให้มีความสามารถในการซึมซับแรงกระเทือนได้ดีขึ้น
ลมที่ถูกบรรจุเข้าไปในยางทั่วไป คืออากาศที่ลอยอยู่ทั่วไปรอบๆตัวเรานี้เอง ข้อจำกัดของลมหรืออากาศที่ถูกอัดบรรจุเข้าไปในยางก็คือ มีความชื้นและละอองน้ำเล็กๆปะปนอยู่ด้วย มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งความชื้นและละอองน้ำนี้เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสนิมขึ้นที่กระทะล้อขึ้นมาได้
และแม้ว่ากระทะล้อรถยนต์รุ่นใหม่ๆจะถูกผลิตขึ้นมาด้วยโลหะผสมที่เรียกกันว่าแมกนีเซียมอัลลอยด์มากขึ้น และโอกาสที่จะเกิดสนิมมีน้อยลง แต่ข้อเสียของลมที่มีความชื้นปะปนอยู่ยังมีอีกหลายประการเช่น ทำให้แรงดันลมภายในยางไม่คงที่ เปลี่ยนไปมาตามอุณหภูมิรอบตัวได้ง่าย และแรงดันลมในยางจะสูงขึ้นตามระยะเวลาและระยะทางที่ใช้งานในแต่ละครั้ง เพราะจะมีความร้อนจากการที่ยางสัมผัสกับพื้นถนนและการขยับให้ตัวของโครงสร้างยางเกิดขึ้นตลอดเวลา
ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้เองทำให้รถยนต์ที่ต้องใช้ความเร็วสูงๆเช่นรถแข่งทางเรียบ หรือรถยนต์ที่ต้องวิ่งด้วยระยะทางยาวไกลเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง จึงหันมาใช้อากาศชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติดีกว่าลมหรืออากาศที่ลอยอยู่รอบตัวเรา สิ่งที่ถูกนำมาใช้กันในทุกวันนี้และเป็นที่นิยมมากขึ้นคือ ไนโตรเจน ครับ


By: Pattanadesh Asasappakij
วันที่: 01 Dec 04 - 09:26

 ความคิดเห็นที่: 4 / 9 : 020770
โดย: ตูเองแหละ
คุณเต่าครับ

ไนโตรเจน เป็น Inert Gas ครับ
ไม่ติดไฟและหนักกว่าอากาศ
วันที่: 03 Dec 04 - 10:47

 ความคิดเห็นที่: 5 / 9 : 020881
โดย: เต่าฟ้า
ผมก็แค่คัดลอกมาให้อ่านกันน่ะครับ แต่ก็จะพยายามคัดลอกบทความที่มันมีความถูกต้องให้มากที่สุด ยังไงก็ขอขอบคุณที่กรุณาทักท้วงมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ แล้ว "ตูเองแหละ" เป็นใครกันหว่า
วันที่: 03 Dec 04 - 16:21

 ความคิดเห็นที่: 6 / 9 : 020891
โดย: เต่าฟ้า
เพิ่มเติมนะครับ

ไนโตรเจน
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 2343-2442) นั้น เป็นที่รู้กันดีว่า อากาศประกอบด้วยก๊าซอย่างน้อยสองชนิด ชนิดหนึ่งช่วยในการเผาไหม้และมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต ส่วนอีกชนิดหนึ่งมิได้มีบทบาทใดเลย




เลขอะตอม 7
น้ำหนักอะตอม 14.0067
สถานะมาตรฐาน ก๊าซที่อุณหภูมิห้อง
ความหนาแน่น 0.0012506 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
จุดเดือด -195.8 องศาเซลเซียส
จุดหลอมเหลว -210 องศาเซลเซียส
เป็นธาตุ อโลหะ
ค้นพบโดย แดเนียล รัทเทอร์ฟอร์ด ที่สก็อตแลนด์ เมื่อ พ.ศ. 2315

แดเนียล รัทเทอร์ฟอร์ด ค้นพบธาตุไนโตรเจนเมื่อ พ.ศ. 2315 เขาเรียกมันว่า “ก๊าซอันตราย” แต่นักเคมี เช่น ชีเล, คาเวนดิช, พริสต์ลีย์, และนักเคมีคนอื่นๆ ที่ศึกษาการเผาไหม้โดยอากาศ เรียกไนโตรเจนว่า “อากาศที่ไม่มีออกซิเจน”
คนส่วนใหญ่มักคิดว่า อากาศประกอบด้วยออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับออกซิเจนมากกว่า แต่อันที่จริงแล้ว ในอากาศที่เราหายใจมีก๊าซไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบถึง 78% ก๊าซไนโตรเจนจัดเป็น “ก๊าซเฉื่อย” ที่มีบทบาทสำคัญในการชะลออัตราการเผาไหม้ลงมาให้อยู่ในสภาพที่เราคุ้นเคย หากอากาศมีแต่ออกซิเจนล้วนๆ แล้วละก็ ป่านนี้ทั้งโลกคงเหลือแต่เศษซากจากการเผาผลาญของพระเพลิงที่เกิดจากออกซิเจนเป็นแน่แท้
ไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญของโมเลกุลทางชีววิทยา เช่น โปรตีน ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนที่ประกอบขึ้นจากกรดอะมิโน กรดนิวคลิอิก เป็นต้น และวัฏจักรของไนโตรเจนในธรรมชาติก็นับว่ามีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก เริ่มต้นเมื่อไนโตรเจนถูกดึงจากบรรยา-กาศแล้วถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสารประกอบในดิน ซึ่งจะเป็นอาหารให้พืชใช้ในการเจริญเติบโต อาจกล่าวได้ว่า หากในดินมีปริมาณไนโตรเจนไม่เพียงพอ พืชก็จะเจริญได้ไม่ดี ซึ่งมนุษย์เราก็ได้พัฒนากระบวนการเลียนแบบการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ เรียกว่า กระบวน-การฮาร์เบอร์ (Harber Process) เพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน
นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ไนโตรเจนในหลายด้าน ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไนโตรเจนเหลวในกระบวนการแช่แข็งอาหาร เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเพื่อเพิ่มความดันในหลุมขุดเจาะ ทำให้เกิดแรงดันดันน้ำมันดิบขึ้นมาข้างบน แต่ที่ใช้มากที่สุดคือใช้ไนโตรเจนในการผลิตแอมโมเนีย (NH3) (ผลิตโดยกระบวนการฮาร์เบอร์) จากนั้นจะนำแอมโมเนียไปผลิตปุ๋ยและผลิตกรดไนตริก (โดยกระบวนการออสต์วาลด์) นอกจากนี้ยังมีการใช้ไนโตรเจนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้ในรูปของก๊าซที่ปกคลุมชิ้นงานระหว่างกระบวนการผลิต เช่น การผลิตทรานซิสเตอร์หรือไดโอด เป็นต้น หรือใช้ในกระบวนการเสริมความแกร่งของเหล็กกล้าไร้สนิม และผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าอื่นๆ และสุดท้ายคือเราสามารถใช้ไนโตรเจนเป็น “ก๊าซเฉื่อย” บรรจุไว้ในถังเก็บสารเคมีที่ระเบิดง่ายได้ด้วย
ก๊าซไนโตรเจนนั้นเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของอากาศที่เราหายใจ จึงนับได้ว่าก๊าซไนโตรเจนนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้วถ้าเราต้องเข้าไปอยู่ในห้องที่มีแต่ก๊าซไนโตรเจนล้วนๆ เราก็อาจตายได้เนื่องจากขาดออกซิเจน ส่วนสารประกอบไนโตรเจนจำพวกแอมโมเนีย ถ้ามีความเข้มข้นสูงก็จะเป็นพิษ หรือถ้าเป็นไซยาไนด์ (CN-) ถ้าได้รับเข้าร่างกายเพียงน้อยนิดก็ทำให้ถึงตายได้ ส่วนไนโตรเจนที่ใช้เป็นปุ๋ยนั้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์ แต่หากปุ๋ยไนโตรเจนถูกชะล้างลงไปในแหล่งน้ำ ก็อาจเกิดปัญหามลพิษทางน้ำได้ ส่วนสารประกอบพวกไนโตรเจนออกไซด์ (NOx ที่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องยนต์) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของฝนกรดและเป็นพิษเช่นกัน

คัดลอกมาจาก : http://www2.sat.psu.ac.th/centrallab/chemlife.htm
วันที่: 03 Dec 04 - 16:34

 ความคิดเห็นที่: 7 / 9 : 021016
โดย: Uckero (ชื่อสมาชิก)
ดีใจที่มีเพื่อนที่ดีอย่างคุณเต่าคอยนำเสนอข้อมูลดีๆอยู่ตลอดเวลา
ผมชอบอ่านบทความของคุณนะได้ความรู้ดี......จริงๆ
ผมก็แค่เคยทำงานเกี่ยวกับปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันนะครับ ( 9 ปิ )
เลยมีความรู้เรื่องของไนโตรเจนพอสมควร ส่วนมากเอาไว้ใช้ไล่ Flamable Gas, Toxic Gas
ออกจากระบบโปรเสส , ถังต่างๆ ถึงไนโตรเจนจะไม่ติดไฟ แต่ตัวมันเองก็อันตรายน่าดู
ในวงการเราเรียกมันว่า Quiet Killer รายละเอียดเล่าแล้วยาวครับ
แต่ละปีทั่วโลกมีผู้ทำงานเสียชีวิตด้วยไนโตรเจนทุกปี ในเมืองไทยก็มีครับ
ผมขอไม่เอ่ยถึงนะว่าที่ใหน ( อยากรู้หลังไมล์ )

ปัจจุบันผมย้ายมาทำงานอยู่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งที่ราชบุรีครับ
ในโปรเสสของผมก็ยังมีใช้ไนโตรเจนอยู่เลย
ผมเป็นสมาชิกครับ ใช้ชื่อ Uckero , ตูเองแหละ
คุณเต่าผ่านราชบุรีก็แวะทักทายได้นะ
ผมใช้ Astina ตาตี่ สีบรอด์น ฐฉ.5505 กทม
แต่งล้อ 17" ลิ้นหน้า เครื่องเสียง ฯลฯ
เจอที่ใหนก็ทักทายได้ครับ
วันที่: 04 Dec 04 - 09:44

 ความคิดเห็นที่: 8 / 9 : 021544
โดย: เต่าฟ้า
รับทราบครับผม
วันที่: 08 Dec 04 - 07:59

 ความคิดเห็นที่: 9 / 9 : 534030
โดย: อ อ่าง
ไม่ทราบมีสถานที่แนะนำที่ให้เติมลม ไนโตรเจนมั๊ย ค่ะ ที่ใกล้สามเสนค่ะ ที่บอกว่า มีอยู่ที่ รัตนาธิเบศก์ อยู่บริเวณไหนคะ
วันที่: 05 Jan 10 - 10:31