User Name :
  Password :

จำนวนสมาชิก 17,837 คน
จำนวนรถ 4,779 คัน

ออนไลน์ 0 คน

รายนามขาเม๊าท์ (0)
  - ไม่มีคนเม๊าท์

Currency Convert



Article

Article Menu
COMPLETE HISTORY OF FAMILIA / 323

ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 8 เมื่อปี 1961 มาสด้านำเสนอรถยนต์ต้นแบบขนาดเล็กรุ่น 700 ซึ่งเป็นที่มาของรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นสำคัญรุ่นหนึ่ง ที่ช่วยให้มาสด้ารอดพ้น จากวิกฤติการณ์ทางการเงินช่วงปลายทศวรรษที่ 70 มาได้ และกลายเป็นรถยนต์รุ่นทำเงินของผู้ผลิตจากเมืองฮิโรชิมารายนี้ในเวลาต่อมา

นับตั้งแต่รุ่นแรกออกสู่ตลาดในปี 1963 จนถึงวันนี้ แฟมีเลีย 323 ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากลูกค้ากว่า 120 ประเทศทั่ว โลก และถูกวางตัวให้เป็นรถยนต์รุ่นสำคัญของ มาสด้า ด้วยมียอดผลิตเฉพาะในญี่ปุ่นผ่านหลัก 10 ล้านคันไปแล้วเมื่อปี 1995 ที่ผ่านมาแฟมีเลียยังคงทำตลาดนอกญี่ปุ่นด้วยชื่อรุ่น 323 อยู่เช่นเคย แต่ในบางประเทศอาจ ใช้ชื่อรุ่นเสริมที่แตกต่างกันไป เช่นในสหรัฐอเมริกาและเมืองไทย ใช้ชื่อ โปรทีเจ หรือในแอฟริกาใต้กับชื่อรุ่น Etude

นอกจากนี้ นับตั้งแต่รุ่นที่ 5 ในปี 1980 เป็นต้นมา แฟมีเลียยังมีฝาแฝดผู้น้อง ทำตลาดผ่านโชว์รูมฟอร์ด ในชื่อฟอร์ด เลเซอร์อีกด้วย โดยเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ครบถ้วนทุกรุ่น ไม่ขาดตอน เป็นผลมาจากข้อตกลงร่วมกันกับฟอร์ด เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินของมาสด้าในขณะนั้นจนบรรลุไปด้วยดี

ช่วงที่ผ่านมา มีการค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีก่อนเป็นจำนวนมาก THAIDRiVER จึงขอนำกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง พร้อมรายละเอียดที่ครบถ้วน สมบูรณ์ขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับผู้ที่จะเดินหาอะไหล่เก่าตามเซียงกงต่างๆ

** หมายเหตุ **
เนื่องจากพื้นที่หน้ากระดาษจำกัด จึงขอใช้ตัวอักษรย่อตามหลักสากลดังต่อไปนี้ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
4MT = เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
5MT = เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
3AT = เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ
4AT = เกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ
4WD = รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ
OHV = OVERHEAD VALVE ตะเกียบวาล์ว
SOHC = SINGLE OVERHEAD CAMSHAFT เพลาราวลิ้นเดี่ยว เหนือฝาสูบ
DOHC = DOUBLE OVERHEAD CAMSHAFT เพลาราวลิ้นคู่เหนือฝาสูบ หรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ ทวินแคม

รุ่นที่ 1 รหัสรุ่น BSAVD , SSA , MPA
FAMILIA 800 & 1,000
18 กันยายน 1963 - 14 พฤศจิกายน 1967

ออกสู่ตลาดครั้งแรกในชื่อ แฟมีเลีย 800 แวน (รหัสรุ่น BSAVD) ใช้ตัวถังแบบเซมิโมโนค็อก มีความยาวตัวถัง 3,635 มิลลิเมตร กว้าง 1,465 มิลลิเมตร สูง 1,395 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,140 มิลลิเมตร วางเครื่องยนต์ OHV ขนาด 782 ซีซี 42 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.0 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที น้ำหนัก เครื่อง 115 กิโลกรัม ประหยัดเชื้อเพลิงระดับ 24 กิโลเมตร/ลิตร ระบบกันสะเทือนหน้าปีกนกคู่-หลังแหนบ ดรัมเบรกทั้ง 4 ล้อ มีให้เลือกทั้งรุ่นสแตนดาร์ด ราคา 438,000 เยน และรุ่น DELUXE 468,000 เยน

6 เมษายน 1964 เพิ่มรุ่นใหม่ แฟมีเลีย แวกอน 2 ประตู ใช้ขุมพลังเดียวกัน แต่เพิ่มความยาวตัวถังจากรุ่นแวน มาเป็น 3,700 มิลลิเมตร และขยายฐานล้อให้ยาว ขึ้นเป็น 2,190 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นซีดาน 4 ประตู (รหัสรุ่น SSA) ตามออกมาเมื่อ 11 กันยายน 1964 ใช้ขุมพลังเดียวกัน

2 พฤศจิกายน 1964 เพิ่มแฟมีเลีย ซีดาน 2 ประตู ทั้งรุ่นธรรมดา (448,000 เยน) และ SPACIAL (415,000 เยน) และเพิ่มตัวถังกระบะ 2 ประตู 2 ที่นั่ง วางขุมพลัง 800 ซีซี เหมือนกัน แต่ลดกำลังเหลือ 37 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.3 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

30 มีนาคม 1965 เพิ่มออพชันใหม่ เบาะนั่งคู่หน้าแบบปรับเลื่อนและเอนนอนได้ RECLINING-SEAT จากนั้น 30 เมษายน 1965 เพิ่มรุ่นเกียร์อัตโนมัติให้กับตัวถังซีดาน 2 และ 4 ประตู ในชื่อ แฟมีเลีย SUPERDRIVE และเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 2 ประตู DELUXE เมื่อ 2 สิงหาคม 1965 ตกแต่งเพิ่มที่บังแดด วิทยุ ฮีตเตอร์ ที่ปัดน้ำฝน 2 จังหวะ ฯลฯ ราคา 498,000 เยน

22 ตุลาคม 1965 เพิ่มรุ่น คูเป 2 ประตู (รหัสรุ่น MPA ตัวถังสปอร์ตกว่ารุ่นซีดาน 2 ประตู) แรงด้วยขุมพลังใหม่ SOHC 985 ซีซี คาร์บูเรเตอร์คู่ 68 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 8.1 กก.-ม.ที่ 4,600 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง วางอยู่บนตัวถังที่มียาว 3,700 มิลลิเมตร และเตี้ยลงเหลือ 1,345 มิลลิเมตร ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มพลังให้เครื่องยนต์ 782 ซีซี โดยเพิ่มคาร์บิวเรเตอร์เป็น 2 ตัว แรงขึ้นเป็น 52 แรงม้า (PS) ความเร็วสูงสุด 125 กิโลเมตร/ชั่วโมง วางในรุ่น ซีดาน DX ทั้ง 2 และ 4 ประตู อีกด้วย และในเดือนกุมภาพันธ์ 1966 ยอดผลิตของแฟมีเลียก็ผ่านหลัก 200,000 คัน

11 มีนาคม 1966 เพิ่มพลังให้กับเครื่องยนต์รุ่นพื้นฐาน เป็น 45 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 6.3 กก.-ม.ที่ 3,200 รอบ/นาที จากนั้น 1 มิถุนายน 1966 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ใหญ่ เปลี่ยนรายละเอียดการตกแต่งทั้งลายกระจังหน้า และไฟท้ายลายใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนมาใช้ระบบออโตคลัชต์ในรุ่นเกียร์อัตโนมัติ เลือกกันได้มาก ถึง 25 รุ่นย่อย และปิดท้ายเมื่อ 25 มกราคม 1967 ด้วยการเพิ่มขุมพลังขนาด 1,000 ซีซี 52 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 8.0 กก.-ม.ให้รุ่นย่อยใหม่ แฟมีเลีย 1000 ซีดาน และ 1000 แวน




รุ่นที่ 2 รหัสรุ่น SPB , M10A
THE FIRST ROTARY's FAMILIA
15 พฤศจิกายน 1967 - 7 กันยายน 1973

เปิดตัวในช่วงยุคประชายนต์นิยม หรือ MOTORIZATION กำลังเบ่งบานเต็มที่ในญี่ปุ่น และต้องเปลี่ยนโฉมเพื่อออกมางัดข้อกับทั้งนิสสัน ซันนี และโตโยต้า โคโรลลา ช่วงแรกมีให้เลือกในตัวถังซีดานทั้ง 2 และ 4 ประตู ที่มีความยาว 3,795 มิลลิเมตร กว้าง 1,480 มิลลิเมตร สูง 1,390 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,260 มิลลิเมตร วางขุมพลัง 4 สูบ OHV 987 ซีซี 58 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 7.9 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ระบบกันสะเทือนหน้าสตรัต เหล็กกันโคลง - หลังแหนบ ดรัมเบรก 4 ล้อ เลือกกันสะใจถึง 29 รุ่นย่อย ราคาตั้งแต่ 368,000 - 505,000 เยน ตั้งเป้ายอดขาย 7,000 คัน/เดือน

21 กุมภาพันธ์ 1968 เพิ่มเครื่องยนต์ 1,200 ซีซี ที่มีกำลังเพิ่มเป็น 68 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.6 กก.-ม.ความเร็วสูงสุด 145 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมเกียร์ธรรมดาแบบกระปุก ตามมาให้เลือกในรุ่นย่อยใหม่ แฟมีเลีย 1200 4 ประตู DELUXE FLOOR-SHIFT จากนั้น 14 พฤษภาคม 1968 กระตุ้นตลาดด้วยรุ่น 1,200 ซีซี 4 ประตู เกียร์อัตโนมัติ SUPERDRIVE และรุ่น 1,200 ซีซี 2 ประตู DELUXE

13 กรกฎาคม 1968 ได้เวลาที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึก เพราะเป็นวันเปิดตัว แฟมีเลีย ROTARY COUPE รหัสรุ่น M10A (มาสด้า R100 ในตลาดส่งออก) ซึ่งเป็น แฟมีเลียรุ่นแรกที่วางขุมพลังโรตารี พัฒนาขึ้นจาก รถยนต์ต้นแบบ RX-85 ที่เผยโฉมในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 14 ปลายปี 1967 วางขุมพลังโรตารี 10A 491 ซีซี 2 โรเตอร์ ยกมาจาก คอสโม สปอร์ต 110S แต่ลดสมรรถนะลงมาเหลือ 100 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงในตัวถังที่ยาว 3,830 มิลลิเมตร กว้าง 1,505 มิลลิเมตร สูง 1,345 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,260 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 825 กิโลกรัม ราคา 700,000 เยน มียอดผลิตทั้งหมด 95,891 คัน ตลอด 5 ปีที่ อยู่ในตลาด และไม่เพียงเท่านั้น แต่มาสด้ายังเปิดตัวรุ่นคูเป ขุมพลัง 1,200 ซีซี ออกมาในวันเดียวกัน ด้วยราคา 550,000 เยน จากนั้นจึงเพิ่มรุ่น 1,200 ซีซี คูเป B-Type ตกแต่งลดออพชันเล็กน้อย เมื่อ 16 มกราคม 1969

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยโดยตรงก็คือ มาสด้าเคยออกประกาศข่าวสื่อมวลชน (PRESS RELEASE) เมื่อ 24 มีนาคม 1969 ว่าจะส่งออก แฟมีเลีย โรตารี คูเป R100 จำนวน 670 คัน ออกทำตลาดนอกญี่ปุ่น ใน 2 ประเทศ โดยส่งไปยังออสเตรเลียรวม 642 คัน แบ่งเป็นล็อตแรก เดือนเมษายน 227 คัน ล็อตที่ 2 เดือนพฤษภาคม 415 คัน ล็อตที่ 3 เดือนมิถุนายน 351 คัน และส่งมาที่เมืองไทยในเดือนพฤษภาคม 1969 รวม 28 คัน ผ่านการทำตลาดของ กมลสุโกศลในยุคนั้น

21 มิถุนายน 1969 เพิ่มรุ่น แฟมีเลีย โรตารี ซีดาน SS ตกแต่งในสไตล์สปอร์ตรอบคัน ทั้งภายนอกและภายใน วางขุมพลัง 10A เมือนกัน แรงม้าเท่ากัน แต่ลดแรงบิดลง เหลือ 12.8 ก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 175 กิโลเมตร/ชั่วโมง และรุ่น โรตารี คูเป E-Type ตกแต่งในสไตล์หรูกว่า B-Type แต่อุปกรณ์ไม่ครบเท่ารุ่น มาตรฐาน อีกทั้งยังเพิ่มความกว้างเป็น 1,560 มิลลิเมตร และลดน้ำหนักตัวเหลือ 815 กิโลกรัม

11 กรกฎาคม 1969 เพิ่มรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี อีก 28 รุ่น ทั้งซีดาน 2 และ 4 ประตู และแวนรวม 45 รุ่น จากนั้น 31 ตุลาคม 1969 เพิ่มรุ่น โรตารี ซีดาน TSS ราคา 668,000 เยน นำแผงหน้าปัด และอุปกรณ์การตกแต่งทั้งภายในและภายนอกของรุ่น โรตารี คูเป E-Type มาแปลงใส่ และเพิ่มเสาอากาศไฟฟ้า

2 มีนาคม 1970 ปรับโฉมครั้งสุดท้ายให้กับทุกรุ่น และเพิ่มทางเลือกใหม่ในชื่อ แฟมีเลีย เพรสโต 1300 โดยชื่อเพรสโต (PRESTO) เป็นคำในภาษาอิตาลี แปลว่าจังหวะ ดนตรีที่เร็วขึ้น แรงขึ้น อัพเดทรายละเอียดการตกแต่งภายนอกรวมทั้งชุดไฟท้ายทรงล้ำสมัย วางขุมพลังรหัส TC SOHC 1,272 ซีซี 75 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที

ส่วนรุ่นโรตารีเดิมที่ถูกปรับปรุงรายละเอียดการตกแต่งรอบคันเช่นเดียวกัน แต่ใช้เครื่องยนต์เดิม และเปลี่ยนมาใช้ชื่อใหม่ เพรสโต โรตารี ซีรีส์ และรุ่นเพรสโต 1,000 ซีรีส์ ที่นำเครื่องยนต์ขนาด 1,000 ซีซีเดิม มาถอดระบบ OHV ออก หันมาใช้ระบบ SOHC แรงขึ้นเป็น 62 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 8.1 กก.-ม.เริ่มทำตลาดเมื่อ 8 เมษายน 1970

5 ธันวาคม 1970 เพิ่มรุ่นย่อย เพรสโต 1,300 คูเป GF (GRAND FASHION) และ เพรสโต โรตารี คูเป GS (GRAND SPORTS) ขุมพลัง TC ปิดท้ายกับการถอด เครื่องยนต์ 1,200 ซีซี ออกจากสายการผลิต เปลี่ยนแผงหน้าปัดใหม่ รวมทั้งตกแต่งภายนอกและภายในเพิ่มเติมเล็กน้อย มาพร้อมชื่อใหม่ว่า นิว แฟมีเลีย เพรสโต 1,000 เพรสโต 1,300 และโรตารี ซีรีส์ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 1972




รุ่นที่ 3 รหัสรุ่น FA3TS
FAMILIA PRESTO
8 กันยายน 1973 - 1977

รุ่นเพรสโตเป็นแค่เพียงการปรับโฉมจากแฟมีเลียรุ่นที่ 2 แต่สาเหตุที่มาสด้ากลับเรียกรุ่นเพรสโตนี้ว่า รุ่นโมเดลเชนจ์ อาจเป็นเพราะการเพิ่มความกว้างตัวถังขึ้นจากเดิม 1,480 มิลลิเมตร มาเป็น 1,540 มิลลิเมตร และเพิ่มความยาวเป็น 3,855 มิลลิเมตร วางขุมพลัง TC 4 สูบ SOHC 1,272 ซีซี 87 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด สูงสุด 11 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระบบกันสะเทือนหน้าสตรัต เหล็กกันโคลง - หลังแหนบ ดรัมเบรก 4 ล้อ เลือกได้ทั้งแบบคูเป และ ซีดาน 2 หรือ 4 ประตู รวม 65 รุ่นย่อย

เปิดตัวออกมาครั้งเดียว และไม่มีการปรับปรุงใดๆเพิ่มเติมเลยจนถึงปี 1976 เนื่องจากมาสด้าประสบปัญหาทางการเงิน เพราะทุ่มพัฒนาเครื่องยนต์โรตารีในรถยนต์รุ่นต่างๆ มากเกินไป อีกทั้งในช่วงนั้นยังเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันทั่วโลก สำนักงาน EPA ของสหรัฐอเมริกา ออกมาโจมตีว่า เครื่องยนตืโรตารีของมาสด้ากินน้ำมัน ยิ่งทำให้ขายไม่ออก จนแทบไม่มีเงินมากพอจะนำมาปรับปรุงรถยนต์รุ่นใหม่ๆให้ดีขึ้น แถมยังเจอมาตรการเข้มงวดของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่กำหนดปริมาณไฮโดรคาร์บอน และ คาร์บอนไดออกไซด์ ในไอเสียที่ปล่อยออกมา จนทำให้ผู้ผลิตทุกราย วิ่งเต้นพัฒนาและเจรจาล็อบบี้กันอลหม่าน มาสด้าเองก็ตกอยู่ในวิกฤติการณ์นี้ด้วย

ขายกันเงียบๆ จนถึง 26 มกราคม 1976 จึงปรับปรุงเครื่องยนต์รหัส TC 1,272 ซีซี ใหม่ เพิ่มระบบลดมลพิษ EGR พร้อมระบบเผาไหม้ AP หรือ ANTI-POLUTION ซึ่ง ระบบนี้ ผสานรูปแบบการเผาไหม้ไอดีบาง กับตัวเร่งปฏิกิริยาอ็อกซิเดชัน เพื่อลดมลพิษ และใช้เชื้อเพลิงในระดับ 22 กิโลเมตร/ลิตร แต่แลกกับสมรรถนะที่ลดทอนลงเหลือ 72 แรงม้า (PS) ที่ 5,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที วางในรุ่นเพรสโต 1,300 AP ทำตลาดทั้ง 3 ตัวถัง แต่มีเพียง 3 รุ่นย่อยและใช้รหัสรุ่น DX เท่านั้น ขณะเดียวกัน มาสด้าก็นำเครื่องยนต์ดังกล่าว มาวางให้กับ แกรนด์แฟมีเลีย อีกด้วย (รายละเอียดในหัวข้อต่อไป) ก่อนที่จะเงียบหายไปจากตลาดในช่วงปี 1977

ในเมืองไทย แฟมีเลียรุ่นนี้ ยังคงทำตลาดต่อเนื่องในรูปลักษณ์รถกระบะขนาดเล็ก 1,000-1,300 ซีซี และปรับโฉมอัพเกรดกระจังหน้า การตกแต่งภายใน อุปกรณ์มาตรฐาน ต่างๆ ทุกๆ 2 ปี ก่อนยุติการผลิตไปเมื่อปี 1996 กับรุ่นเพิ่มขนาดห้องโดยสารด้านหลังในชื่อ MAXI CAB ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้าย




รุ่นพิเศษ
SAVANNA RX-3 และ GRAND FAMILIA 808 / 818
6 กันยายน 1971 - มีนาคม 1978

ในระหว่างที่ทำตลาดแฟมีเลียรุ่นมาตรฐาน มาสด้าก็วางแผนขยายสายพันธุ์โรตารีลงมายังรถยนต์รุ่นเล็ก โดยเปิดตัวซาแวนนา RX-3 คอมแพกต์สปอร์ต ช่วงแรกมีให้เลือกทั้ง รุ่นซีดาน RX GR และคูเป SX GS GS-II ไฟท้ายแบบ 3 วงกลม มาตรวัดความเร็วแบบ 2 ช่อง มิติตัวถังยาว 4,065 มิลลิเมตร กว้าง 1,595 มิลลิเมตร สูง 1,350 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,310 มิลลิเมตร ทุกรุ่นวางขุมพลังโรตารีรหัส 10A 491ซีซี 2 โรเตอร์ 105 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 แรงบิดสูงสุด 13.7 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ 5MT ยกมาจาก รถสปอร์ตรุ่นดัง คอสโม สปอร์ต

เมื่อมีรุ่นแรง ก็ต้องมีรุ่นธรรมดา เพื่อรองรับตลาดล่าง มาสด้าจึงนำซาแวนนา มาหั่นออพชันไม่จำเป็นออก เปลี่ยนชุดไฟหน้าเป็นแบบสี่เหลี่ยมและกระจังหน้าใหม่ เปิดตัวในวัน เดียวกัน ใช้ชื่อ แกรนด์ แฟมีเลีย วางเครื่องยนต์ รหัส TC 4 สูบ SOHC 1,272 ซีซี 87 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที ยกมา จากแฟมีเลีย เพรสโต (รุ่นเดิม ก่อนเพิ่มระบบลดมลภาวะ AP) มีทั้งเกียร์ 5MT และเพิ่มทางเลือกใหม่ เกียร์ 3AT ลงในตัวถังทั้งแบบซีดานและคูเปซึ่งมีขนาดเท่าๆ กัน ยาว 3,970 มิลลิเมตร กว้าง 1,595 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,350-1,380 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,310 มิลลิเมตร พ่วงเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ระบบกันสะเทือนหน้าสตรัต หลัง แหนบ ระบบเบรกหน้า-ดิสก์ หลัง-ดรัม โดยแกรนด์ แฟมีเลียนี้ ส่งออกไปทำตลาดต่างประเทศ รวมทั้งเมืองไทยในชื่อ มาสด้า 808

13 มกราคม 1972 เพิ่มทางเลือกใหม่ ซาแวนนา สปอร์ตแวกอน 5 ประตู กลายเป็นรถยนต์แวกอนเครื่องยนต์โรตารีรุ่นแรกในโลก เพิ่มความยาวตัวถังเป็น 4,085 มิลลิเมตร เพิ่มความสูงเป็น 1,405 มิลลิเมตร

18 กันยายน 1972 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ ซาแวนนา GT คูเป S102A สปอร์ตเข้มเต็มตัวมากขึ้น เปลี่ยนชุดไฟท้าย วางขุมพลังโรตารีตัวใหม่รหัส 12A 573 ซีซี 2 โรเตอร์ 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ 5MT ความเร็วสูงสุด 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นอีกรุ่นที่ได้รับความนิยม นำไปลงแข่งประลองความเร็วทางเรียบในญี่ปุ่น โดยคู่ประกบในยุคนั้น เทียบชั้นกับนิสสัน สกายไลน์ และนับเป็นอีกรุ่นที่เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับขุมพลังโรตารี ในสนามแข่ง จนกว่าแชมป์รายการ เจแปน ทัวริง คาร์ แชมเปียนชิป ในปีเดียวกันนั้นเอง

ส่วน แกรนด์แฟมีเลีย ก็เพิ่มรุ่น S-TOURING วางเครื่องยนต์ 4 สูบ SOHC 1,490 ซีซี 92 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.2 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที พิเศษด้วยมาตรวัดรอบ ยางแก้มเตี้ย พวงมาลัยแบบใหม่ทรงสปอร์ต พร้อมคอนโซลกลางใต้แผงหน้าปัด

13 พฤศจิกายน 1972 ปรับปรุงอุปกรณ์ ด้วยชุดมาตรวัดแบบใหม่ 5 ชิ้น (วัดความเร็ว วัดรอบ น้ำมันเชื้อเพลิง อุณหภูมิน้ำมันเครื่อง นาฬิกา) จากเดิมที่มีเพียง 2 ชิ้น เปลี่ยน ลายเบาะนั่งในรุ่น GS-II เพิ่มโลโก้ RE-10 ที่กระจังหน้า เพิ่มสติ๊กเกอร์คาดข้างตัวถังลายใหม่ และปรับปรุงระบบพวงมาลัยเล็กน้อย

7 มิถุนายน 1973 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ ซาแวนนา ชุดกระจังหน้าลายรังผึ้งพร้อมโลโก้ RE10 (มาจาก ROTARY ENGINE 10A) และกรอบไฟหน้าทั้ง 4 ดวง รวมถึง ชุดไฟท้ายแบบใหม่ 4 ช่อง รวมทั้งเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ คูเป้ GS แวกอน GR และเพิ่มเกียร์อัตโนมัติ RE-MATIC ให้กับรุ่นซีดาน GX

ส่วนรุ่นแกรนด์แฟมีเลียก็ปรับโฉมไปพร้อมๆกัน เปลี่ยนลายกระจังหน้า โลโก้รอบคัน ชุดไฟท้ายลายใหม่ แผงหน้าปัดใหม่ และยังนำฝาครอบกระทะล้อแบบ 5 รูจากซาแวนนา มาติดตั้งให้ และเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ 4 สูบ SOHC 1,586 ซีซี 100 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที

28 กรกฎาคม 1973 นำเครื่องยนต์ 12A พร้อมเทคโนโลยีลดมลพิษ REAPS-2 (ROTARY ENGINE ANTI POLUTION SYSTEM -เวอร์ชัน 2 ) ที่เพิ่งติดตั้งในลูเช่ AP (ANTI POLUTION) มาวางให้กับซาแวนนา และใช้ชื่อรุ่น ซาแวนนา AP แรงเท่าเดิม 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แต่ปรับปรุงแรงบิดสูงสุดมาอยู่ที่ 16 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ในระยะแรกมีเพียงเกียร์ 3AT RE-MATIC ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเชื่อมกับเครื่องยนต์โรตารีให้เลือก แต่ในเดือนพฤศจิกายน 1973 รุ่นเกียร์ 4MT / 5MT จึงตามเข้ามาเสริมทัพให้กับรุ่น AP ด้วย พร้อมกับยุติการผลิตเครื่องยนต์ 10A เนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานมลพิษฉบับใหม่ของญี่ปุ่นในตอนนั้น

พฤศจิกายน 1974 ปรับปรุงเทคโนโลยี REAPS อัพเดทเป็นเวอร์ชัน 4 แล้วติดตั้งลงในเครื่องยนต์ 12A วางในรุ่นย่อยใหม่ ซาแวนนา AP-GT ถึงจะลดมลพิษ แต่ก็แรง ขึ้นได้อีกเป็น 125 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.2 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ความเร็วสูงสุด 190 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ตุลาคม 1975 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ รุ่นซาแวนนา เพิ่มสปอยเลอร์ด้านหน้าเล็กน้อย พร้อมกระจังหน้าใหม่ปลดโลโก้ต่างๆลง แล้วใช้โลโก้ปัจจุบันของมาสด้า ที่เพิ่งออกใช้ ครั้งแรกในยุคนั้น และเพิ่มระบบลดมลพิษ REAPS เวอร์ชัน 5 เพื่อรองรับมาตรฐานมลพิษฉบับหลังปี 1976 เพิ่มรุ่น AP ซีดาน GR และ AP แวกอน GR

ส่วนแกรนด์ แฟมีเลีย เปลี่ยนมาใช้ชุดไฟหน้าทรงกลม ข้างละดวง แยกออกจากชุดกระจังหน้าลายตะแกรงสี่เหลี่ยม โดยรุ่นส่งออก เปลี่ยนจากชื่อ 808 เป็นรุ่น 818 พร้อมกับ ติดตั้งระบบลดมลพิษ AP ให้เครื่องยนต์ 4 สูบ SOHC 1,586 ซีซี เดิม ลดกำลังลงเหลือ 90 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที

26 มกราคม 1976 ปรับทัพให้ แกรนด์แฟมีเลีย AP เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยเครื่องยนต์ TC 4 สูบ SOHC 1,272 ซีซี ที่เพิ่มระบบลดมลพิษ EGR พร้อมระบบเผาไหม้ AP (ANTI -POLUTION) ซึ่งระบบนี้ ผสานรูปแบบการเผาไหม้ไอดีบาง กับตัวเร่งปฏิกิริยาอ็อกซิเดชัน เพื่อลดมลพิษ และใช้เชื้อเพลิงในระดับ 22 กิโลเมตร/ลิตร แต่แลกกับ สมรรถนะที่ลดลงเหลือ 72 แรงม้า (PS) ที่ 5,700 รอบ/นาที ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวกับในแฟมีเลีย เพรสโต 1,300 AP ทำตลาดทั้ง 3 ตัวถัง แต่มีเพียง 3 รุ่นย่อย และใช้ รหัสรุ่น DX เท่านั้น ขณะเดียวกัน มาสด้าค่อยๆยุติการผลิตรุ่นแวกอนออกไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 1976 เนื่องจากปัญหาการควบคุมสต็อกรถยนต์ในคลัง

พฤษภาคม 1977 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งสุดท้าย ให้กับซาแวนนา เพิ่มกันชนหน้าขนาดใหญ่แบบรับแรงปะทะ และคืนรูปได้ เขื่อนดักลมใต้กันชนหน้าให้สปอร์ตขึ้น เปลี่ยนชุด ไฟท้ายให้ดูเรียบง่ายขึ้น และเปลี่ยนวงพวงมาลัย 3 ก้านแบบใหม่ รวมทั้งเพิ่มรุ่นพิเศษ V100 ออกมาด้วย

ขณะที่แกรนด์แฟมีเลียเอง ก็เปลี่ยนมาใช้กระจังหน้าแบบซี่นอนเรียบง่าย พร้อมชุดไฟท้ายแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และสติกเกอร์แบบ STRIP แนวยาวด้านข้างตัวถังทั้ง 2 ฝั่ง เพิ่มฝาครอบกระทะล้อลายใหม่แบบเต็ม

ทั้งซาแวนนา RX-3 และแกรนด์แฟมีเลีย ทำตลาดควบคู่กับแฟมีเลีย AP มาจนถึงเดือนมีนาคม 1978 จึงยุติบทบาทไป โดยซาแวนนา มีรุ่นตัวตายตัวแทนเพื่อสืบทอดมรดก ขุมพลังโรตารี เป็นรุ่น ซาแวนนา RX-7 เจเนอเรชันแรก SA22C นั่นเอง




รุ่นที่ 4 รหัส FA4TS
FAMILIA AP "THE FIRST 323 & THE LAST FR FAMILIA"
24 มกราคม 1977 - 1 มิถุนายน 1980


เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำตลาดกับ แกรนด์แฟมีเลีย ที่มีทั้งรุ่นซีดานและคูเป แฟมีเลียใหม่ จึงมีให้เลือกเพียง 2 ตัวถังคือแฮทช์แบ็ค 3 และ 5 ประตู เลือกกันได้ตัวถังละ 4 ระดับการตกแต่ง ทั้ง รุ่นมาตรฐาน DELUXE GF และ SUPER CUSTOM ทั้ง 2 ตัวถังมีความยาว 3,910 มิลลิเมตร กว้าง 1,605 มิลลิเมตร สูง 1,375 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,315มิลลิเมตร ช่วงแรกวางขุมพลังรหัส TC 4 สูบ SOHC 1,272 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 72 แรงม้า (PS) ที่ 5,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เพียงแบบเดียว มีทั้งเกียร์ 4MT/5MT ระบบกันสะเทือนหน้า-สตรัตพร้อมเหล็กกันโคลง หลัง- 5 จุดยึด ระบบเบรกหน้า-ดิสก์ หลัง-ดรัม ตั้งราคาไว้ที่ 640,000 - 835,000 เยน ตั้งเป้ายอดขายในญี่ปุ่นไว้ 6,000 คัน/เดือน

การปรับปรุงครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ 30 กันยายน 1977 ที่ปรับปรุงระบบลดมลพิษ EGR เพิ่มคาตาไลติก คอนเวอร์เตอร์ และระบบ MAZDA STABLE COMBUSTION SYSTEM เฉพาะรุ่น SUPER CUSTOM เพื่อให้ผ่านมาตรฐานของรัฐบาลญี่ปุ่นแต่ยังคงสมรรถนะเท่าเดิม

20 มกราคม 1978 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรก ปรับปรุงโทนสี วัสดุการตกแต่งต่างๆให้ร่วมสมัยขึ้น เพิ่มเข็มขัดนิรภัย ELR และระบบล็อกประตูกันเด็กเปิดเล่นเฉพาะ รุ่น 5 ประตู SUPER CUSTOM รวมทั้งเพิ่มระบบ MAZDA STABLE COMBUSTION SYSTEM ครบทุกรุ่น เพื่อให้จุดระเบิดสมบูรณ์ขึ้น รวมทั้งเพิ่มรุ่นแวกอน 3 และ 5 ประตู สำหรับงานธุรกิจส่งของ

7 มีนาคม 1978 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่เปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าใหม่ทั้งหมด ชุดไฟหน้าแบบสี่เหลี่ยมของรุ่นนี้ เป็นครั้งแรกที่ใช้หลอดฮาโลเจนในญี่ปุ่น รวมทั้ง ออพชันใหม่ๆ ทั้งเข็มขัดนิรภัยคู่หน้า แบบ ELR แผงหน้าปัดใหม่ และเพิ่มขุมพลังใหม่ UC SOHC 1,415 ซีซี 82 แรงม้า (PS) ที่ 5,700 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 11.7 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 10 โหมด ตามมาตรฐานรัฐบาลญี่ปุ่นที่ 14.0 กิโลเมตร/ลิตร ที่มาพร้อมกับรุ่น ELEGANCE CUSTOM และ TOURING CUSTOM จากนั้น 22 มิถุนายน 1978 รุ่นเกียร์ 3AT ผลิตโดย JATCO (บริษัทที่ร่วมทุนระหว่างมาสด้าและฟอร์ด) ในรุ่น 1,400 ซีซี จึงตามมา

แฟมีเลียรุ่นนี้ เปิดตัวในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำมันทั่วโลก ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในญี่ปุ่นทะลุหลัก 1.7 ล้านคัน/ปี หรือเทียบอัตราส่วนประชากร 2 ครอบครัว / รถยนต์ 1 คัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับอายุ 20 -30 ปี ที่เน้นเรื่องความประหยัด

นอกจากนี้ยังเป็นรุ่นแรกที่ส่งออกสู่ตลาดโลกรวมทั้งไทยในชื่อ 323 และทำตลาดในสหรัฐอเมริกาด้วยชื่อ มาสด้า GLC (ย่อมาจาก GREAT LITTLE CAR) มีอายุในตลาด เพียงแค่ 3 ปีครึ่งเท่านั้น สั้นที่สุดหากเทียบกับแฟมีเลียรุ่นอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง มีอัตราเร่งดีพอใช้ แต่มีปัญหาในเรื่องการป้องกันสนิม และ การรั่วซึมของน้ำมันเครื่องตามจุดต่างๆ

ส่วนรุ่นแวกอน ยังคงทำตลาดต่อเนื่อง ในชื่อ แฟมีเลีย แวน และปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์เมื่อ 2 ธันวาคม 1981 โดยรุ่น 3 ประตู จะมีทั้งเครื่องยนต์ TC และ UC ส่วน 5 ประตู มีเพียงเครื่องยนต์ UC ให้เลือกเท่านั้น โดยมีการเพิ่มรุ่น 2 ที่นั่ง ขุมพลัง TC ให้กับทั้ง 2 ตัวถัง เมื่อ 15 ตุลาคม 1982 และไมเนอร์เชนจ์ใหญ่ เปลี่ยนชุดกระจังหน้า ไฟหน้า และลายไฟท้ายใหม่ รวมทั้งแยกรุ่นย่อยเพิ่มขึ้น เมื่อ 20 ตุลาคม 1983 ก่อนถูกแทนที่ด้วยรุ่นใหม่เมื่อ 18 ธันวาคม 1985




รุ่นที่ 5 รหัสรุ่น BD
THE FIRST FF & TURBO's FAMILIA
2 มิถุนายน 1980 - 8 มกราคม 1985


เปิดศักราชใหม่สู่ทศวรรษที่ 1980 ด้วยโฉมใหม่ทรงเหลี่ยมร่วมสมัย พัฒนาขึ้นภายใต้รหัสโครงการ P221 ภายใต้การออกแบบของทีมงานที่นำโดย MATASABURO MAEDA ; CHIEF DESIGNER ที่เคยสร้างผลงานจาก RX-7 รุ่นแรก และคาเพลลา 626 รุ่นปี 1978 และถือเครดิตเป็นรถยนต์ผลิตขายจริงรุ่นแรกของมาสด้าที่หันมา ใช้ระบบขับล้อหน้า เริ่มต้นกับแบบแฮทช์แบ็ค 3 และ 5 ประตู แต่รุ่น 5 ประตูที่มาผลิตขายในเมืองไทย ไม่มีกระจกโอเปราที่เสาหลังคาหลังเหมือนเวอร์ชันญี่ปุ่น เริ่มเน้นหลัก อากาศพลศาสตร์เต็มตัวด้วยกระจังหน้าลาดเอียง ลู่ลมด้วยค่า Cd 0.44 เพิ่มออพชันใหม่ เช่นซันรูฟ เฉพาะรุ่น XL เข็มขัดนิรภัยคู่หน้า ELR เบาะคู่หน้าปรับเอนเรียบเป็น แนวเดียวกับเบาะหลัง FULL FLAT SEAT ฯลฯ แบ่งการตกแต่ง 4 เกรด ทั้ง XC XT XL และ XG ราคาตั้งแต่ 738,000 - 1,038,000 เยน เปิดตัวในช่วงที่กระแสโลก กำลังนิยมรถยนต์ทรงกล่อง BOXY CAR

ทั้งคู่มีความยาว 3,955 มิลลิเมตร กว้าง 1,630 มิลลิเมตร สูง 1,375 มิลลิเมตร และฐานล้อยาว 2,365 มิลลิเมตร เป็นรุ่นแรกที่เปลี่ยนมาวางขุมพลัง 4 สูบ SOHC ตระกูล ใหม่ E-SERISE ทั้งแบบ E3 1,295 ซีซี 74 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 17 กิโลเมตร/ลิตร และ E5 1,490 ซีซี 85 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.3 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 16.5 กิโลเมตร/ลิตร ทั้งคู่พ่วงได้ทั้งเกียร์ 4MT/5MT /3AT ส่วนเวอร์ชันส่งออก มีขุมพลังเพิ่มอีก 2 แบบ คือ E1 1,071 ซีซี และ E5S 1,490 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์คู่ สำหรับรุ่น GT 3 ประตู ระบบกันสะเทือนแบบสตรัต ทั้งหน้า-หลัง ระบบเบรกทุกรุ่นแบบหน้าดิสก์-หลังดรัม

2 เดือนหลังเปิดตัว รุ่นเกียร์ 3AT โดย JATCO ตามออกมาสมทบให้กับรุ่น XL และ XT ทั้ง 2 ตัวถังเมื่อ 19 สิงหาคม 1980 จากนั้น เป็นการกลับมาอีกครั้ง ของรุ่นซีดาน 4 ประตู 1.3 และ 1.5 คลอดตามมาเมื่อ 2 กันยายน 1980 แตกต่างจากรุ่นแฮตช์แบ็กด้วยด้วยชุดไฟหน้าสี่เหลี่ยมกระจังหน้าแบบเฉียงเข้า (ทั้งที่รุ่นส่งออกใช้กระจังหน้าแบบ ลาดเทเหมือนกับรุ่นแฮตช์แบ็ก) ในช่วงแรก เพิ่มความยาวตัวถังอีกเป็น 4,155 มิลลิเมตร ขยายห้องเก็บของด้านหลังเป็น 366 ลิตร เพิ่มออพชันใหม่เช่นกระจกมองข้างปรับ ด้วยไฟฟ้า และระบบเซ็ตระยะทางแบบดิจิตอลในบางรุ่น ตกแต่ง 4 เกรด ทั้ง XC XT XL และ XE ราคา 795,000 - 1,053,000 เยน

18 พฤษภาคม 1981 ฉลองที่แฟมีเลียได้รางวัล รถแห่งปีของญี่ปุ่น 1980-1981 ออกรุ่นพิเศษ 3 ประตู 1.5 XT อัตโนมัติ CHATELET เปลี่ยนลายผ้าเบาะใหม่ ฯลฯ จำกัด เพียง 500 คัน และ 3 ประตู 1.5 XG SPORT เพิ่มสีทูโทน ตกแต่งสไตล์สปอร์ต ลายผ้าเบาะใหม่ แถมยางมิชลิน XZX 175/70R13 เพียง 250 คัน จากนั้น 18 สิงหาคม 1981 เพิ่มเกียร์ 3AT และซันรูฟให้เป็นออพชันของรุ่น XG ทั้ง 3 และ 5 ประตู รวมทั้งเพิ่มเบาะแบบ FULL FLAT SEAT ให้รุ่นซีดาน XE XL

29 มีนาคม 1982 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ ซีดาน 1.3 XC SPACIAL , 2 มิถุนายน 1982 เพิ่มรุ่นย่อยพิเศษ 3 ประตู 1.5 SPORT-IV เกียร์ 5MT พร้อมซันรูฟ จำกัด 1,500 คัน และ 1.3 DRESS-UP VERSION ทั้ง 3 และ 5 ประตู เกียร์ 4MT จำกัด 800 คัน และด้วยการตอบรับจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเร่งส่งรุ่น 3 ประตู 1.5 SPORT-V อีก 1,500 คัน และรุ่นซีดาน 1.5 XE SUPER EDTION-II อีก 500 คัน ตามติดเมื่อ 31 สิงหาคม 1982 รวมทั้งรุ่น 3 ประตู 1.5 SPORT-VI เกียร์ 5MT อีก 1,500 คัน และ 3 ประตู 1.5 CHATELET-II เกียร์อัตโนมัติ 3 จังหวะ อีก 300 คัน ประกบติดเมื่อ 12 ตุลาคม 1982 โดยรุ่น SPORT ทั้ง 3 รุ่นจะมาพร้อมสีตัวถังพิเศษ รุ่นละ 2-3 สี

6 มกราคม 1983 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ รุ่นแฮตช์แบ็กเปลี่ยนกระจังหน้ามาเป็นแบบ 2 แถวยาว ทรงสปอร์ต ส่วนรุ่นซีดาน เปลี่ยนจากกระจังหน้าแบบเฉียงเข้า ข้างในมาใช้ชุดไฟหน้า และกระจังหน้าเฉียงเดียวกับแฮตช์แบ็ก โดยจะใช้กระจังหน้าแบบ 3 แถวยาว ภายนตกแต่งด้วยพวงมาลัย ลายผ้าเบาะ/ผ้าบุแผงประตู ออกแบบใหม่ เพิ่มคอนโซลกลางพร้อมที่เก็บของ รวมทั้งนำระบบหัวฉีด EGI มาใช้เป็นครั้งแรกกับรหัส E5 1,490 ซีซี แรงขึ้นเป็น 95 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.6 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ 5MT เป็นอีกทางเลือกใหม่เพิ่มจาก E3 และ E5 เดิม วางในรุ่นย่อย XGi ทั้งรุ่นซีดานและแฮตช์แบ็ก 3 ประตู นอกจากนี้ยัง ปรับปรุงยางรองแท่นเครื่องใหม่ เพื่อให้เครื่องยนต์นิ่งขึ้นในรอบเดินเบา เลือกกันได้มากถึง 19 รุ่นย่อย

27 เมษายน 1983 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ แฟมีเลีย ซาลูน 1.5 เกียร์ 5MT และ 1.5 GRAND EXTRA เกียร์ 3AT เสริมกระจกมองข้างไฟฟ้า คิ้วกันกระแทกหนาถึง 45 มิลลิเมตร คอนโซลกลางใต้แผงหน้าปัด เบาะหลังแยกพับได้ 6:4 เพื่อเพิ่มพื้นที่ห้องเก็บของ กระจกมองข้างไฟฟ้า มาตรวัดรอบ ฯลฯ

7 มิถุนายน 1983 ครั้งแรกของการเพิ่มระบบอัดอากาศเทอร์โบให้กับตระกูลแฟมีเลีย โดยใช้พื้นฐานจาก E5 เดิม ใส่หัวฉีด EGI ปรังปรุงพอร์ตไอเสียให้ใหญ่ขึ้น ใช้รหัสใหม่ E5T แรงขึ้นเป็น 115 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที กลายเป็นรุ่นที่แรงสุดของรุ่นตัวถังนี้ทันที วางในรุ่น 3 ประตู XG กับ XG-R และซีดาน XG มีเฉพาะเกียร์ 5MT ตกแต่งภายนอกด้วยกระจกมองข้างแบบใหม่ ติดตั้งบริเวณประตูคู่หน้า (จากเดิม เป็นแบบติดตั้งบนเหนือซุ้มล้อคู่หน้า) สติ๊กเกอร์ และโลโก เทอร์โบ รอบคัน เบาะบักเก็ตซีตสไตล์ยุโรป ชุดมาตรวัดเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟสีส้ม นอกจากนี้ยังปรับปรุงช่วงล่าง เสริมเหล็กกันโคลง ปรับมุมแคมเบอร์ให้มีค่าเป็น ลบมากขึ้น และเสริมจานเบรกขนาด 8 นิ้ว ยางซีรีส์ 60 (เฉพาะ XG-R) เพื่อให้เกาะถนนดีขึ้น

31 มกราคม 1984 เพิ่มรุ่นพิเศษ 1.5 XG-R เทอร์โบ SPORT EUROPE ตกแต่งด้วย เบาะบักเก็ตซีต RECARO พร้อมลายผ้าบุประตูลายเดียวกันกับเบาะ ยางพีแรลลี P6 ซันรูฟ เซ็นทรัลล็อก จำกัดเพียง 1,600 คัน และรุ่น 1.3 SUPER XC ทั้งรุ่น 3 4 และ 5 ประตู เพิ่มพวงมาลัยปรับระดับได้ เบาะผ้าสีเทา ใบปัดน้ำฝนหลัง ฯลฯ จำกัด เพียง 6,000 คัน

16 กุมภาพันธ์ 1984 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 1500 GRAND EXTRA ทั้ง 4 และ 5 ประตู มีทั้งเกียร์ 5MT/3AT พร้อมกระจกมองข้างไฟฟ้า ลายผ้าเบาะใหม่ รวมทั้งพวงมาลัย เพาเวอร์อัตราทดเฟืองแปรผัน VGR (VARIABLE GEAR RATIO) และรุ่นประหยัด 3 ประตู CHATELET ทั้ง 1300 เกียร์ 4MT และ 1.5 เกียร์ 5MT/3AT

28 พฤษภาคม 1984 ปรับปรุงรุ่น 4 ประตู 1500 XG เพิ่มพวงมาลัยเพาเวอร์ เซ็นทรัลล็อก มาตรวัดรอบ และลายผ้าเบาะใหม่ และ 22 สิงหาคม 1984 เพิ่มรุ่น 3 ประตู SPORT เกียร์ 5MT/3AT ปรับปรุงจากรุ่นย่อย 1.5 XG เพิ่ม ซันรูฟ เบาะและพวงมาลัยจากเวอร์ชันยุโรป และยาง 175/70SR13 เป็นรุ่นส่งท้าย

นี่คือรุ่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะกวาดทั้งรางวัลต่างๆมากถึง 14 รางวัล เช่นรางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งปี 1980-1981 ของญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม 1981 รางวัล MOST MEANINGFUL CAR จากนิตยสาร CAR&DRIVER แม้กระทั่งรางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งปี 1982 จากนิตยสารกรังด์ปรีซ์ เมืองไทย เมื่อเดือนมกราคม 1983 รวมทั้งคว้าชัยชนะอันดับ 1 และ 2 ในสนามแข่งรายการ MONTE CARLO ครั้งที่ 50 ในกลุ่ม CLASS 5 ต่ำกว่า 1,300 ซีซี เมื่อ 22 มกราคม 1982

และที่สำคัญ รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกที่สั่นสะเทือนวงการรถยนต์ญี่ปุ่น ด้วยการทำสถิติยอดขายแซงขึ้นหน้าโตโยต้า โคโรลล่าไปครองตำแหน่งรถขายดีที่สุดในญี่ปุ่นได้ ทั้งในเดือน เมษายน สิงหาคม และตุลาคม 1982 มกราคม เมษายน พฤษภาคม สิงหาคมและตุลาคม 1983 จนมียอดผลิตในญี่ปุ่น ผ่านหลัก5 ล้าน คันในปี 1984 นอกจากนี้ยังสร้างสถิติ ยอดผลิตมากถึง 1 ล้านคันเพียง 27 เดือนหลังเปิดตัว เหตุผลเป็นเพราะการออกแบบที่โฉบเฉี่ยว ร่วมสมัย เครื่องยนต์ที่มีอัตราเร่งดี ระบบกันสะเทือนที่มั่นใจได้ สมรรถนะดี และลบจุดด้อยเรื่องกินน้ำมันได้สำเร็จ นั่นเอง




รุ่นที่ 6 รหัสรุ่น BF
THE FIRST FULL TIME 4WD's FAMILIA
9 มกราคม 1985 - 26 กุมภาพันธ์ 1989


เข้าสู่ยุคเบ่งบานของมาสด้าในตลาดโลกเต็มตัว คราวนี้เปิดตัวพร้อมกันรวดเดียว 3 ตัวถังทั้งซีดาน แฮตช์แบ็ก 3 และ 5 ประตู มิติตัวถัง (แฮตช์แบ็ก/ซีดาน) ยาวระหว่าง 3,990 - 4,195 มิลลิเมตร กว้าง 1,645 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,355 - 1,390 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อยาว 2,400 มิลลิเมตร ช่วงแรก เวอร์ชันญี่ปุ่นวางขุมพลัง 4 สูบ SOHC ล้วนๆ สารพัดแบบ ดังนี้

E3 1,296 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 74 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/3AT มีทุกตัวถัง
E5 1,490 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 85 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.3 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/3AT มีทุกตัวถัง
E5 1,490 ซีซี หัวฉีด EGI 95 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.6 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/3AT เฉพาะ 3,4 ประตู
E5 1,490 ซีซี หัวฉีด EGI เทอร์โบ 115 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เฉพาะเกียร์ 5MT เฉพาะ 3,4 ประตู

ทุกขุมพลังมีเฉพาะระบขับล้อหน้าเท่านั้น ระบบกันสะเทือนแบบสตรัตทั้งหน้า-หลัง SS-SUS (SELF STABILIZING) พิเศษเฉพาะรุ่น เทอร์โบ XG-R ที่มีระบบปรับความ แข็งของโช้คอัพด้วยไฟฟ้า ทำงานร่วมกับโซลินอยด์บนแกนโช้คทั้ง 4 ส่วนเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลังนั้น มีทั้งแบบ STANDARD และ HARD บางรุ่นไม่มีติดตั้ง บางรุ่นมี เฉพาะด้านหน้า บางรุ่นมีเฉพาะด้านหลังและรุ่นท็อป มีทั้งหน้า-หลัง ขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่นย่อย ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม หรือดิสก์ 4 ล้อ พร้อมรูระบายความร้อนที่คู่หน้าตาม แต่ละรุ่นย่อย

1 กรกฎาคม 1985 เพิ่มรุ่นพิเศษเพื่อฉลองยอดผลิต 2 ล้านคัน ในชื่อ แฟมีเลีย SPORT สีขาว เพิ่มสปอยเลอร์หลังและสเกิร์ตข้าง กระจกไฟฟ้า เซ็นทรัลล็อก พวงมาลัยทรง สปอร์ตพร้อมเพาเวอร์ ยาง 185/60R13 ฯลฯ จำกัดจำนวน 1,200 คัน

27 กรกฎาคม 1985 เพิ่มทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซล รหัส PN 4 สูบ SOHC 1,720 ซีซี 59 แรงม้า (PS) ที่ 4,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.8 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที เชื่อมได้ทั้งเกียร์ 5MT/3AT วางครบทั้งรุ่นซีดาน แฮตช์แบ็ก 3 และ 5 ประตู

28 สิงหาคม 1985 เพิ่มรุ่นพิเศษ 3 ประตู 1.3 และ 1.5 CHATELET บนพื้นฐานจากรุ่นย่อยพื้นฐาน XR เพิ่มเบาะลายพิเศษ พวงมาลัยสปอร์ต พร้อมเพาเวอร์ กระจกมอง ข้าง สีเดียวกับตัวถัง จำกัดจำนวน 3,000 คัน

21 ตุลาคม 1985 ขยายสายพันธุ์ครั้งใหญ่ ด้วยการเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ B6 DOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี EGI อินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบ 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/ นาที แรงบิดสูงสุด 19 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที เชื่อมได้เฉพาะเกียร์ 5MT แต่เลือกได้ทั้งรุ่นขับล้อหน้า (4 ประตู GT / 3 ประตู GT และรุ่น INFINI ตกแต่งพิเศษด้วยเบาะ RECARO เพิ่มขนาดชิ้นส่วนต่างๆ บางจุดของระบบกันสะเทือนและเหล็กกันโคลงให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย) และครั้งแรกกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ FULL TIME 4WD (3 ประตู GT และ GT-X)

18 ธันวาคม 1985 รุ่นแวกอน 5 ประตูตามออกมา เพิ่มความยาวเป็น 4,220 มิลลิเมตร สูง 1,420 มิลลิเมตร นอกนั้น ความกว้างและระยะฐานล้อเท่ากับรุ่นอื่น มีทั้งแบบ แฟมีเลีย แวกอน ขุมพลังใหม่ B5 SOHC 1,490 ซีซี EGI 76 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที พร้อมระบบกันสะเทือน SS-SUS จากรุ่นซีดาน และ แฟมีเลีย แวน สำหรับธุรกิจส่งของ วางขุมพลัง 3 ขนาด ทั้งรหัส E3 1,300 ซีซี E5 1,500 ซีซี และ PN ดีเซล 1,700 ซีซี

31 มกราคม 1986 เพิ่มรุ่นย่อย 3 ประตู S/S และซีดาน 1500 S-XE ทั้งคู่มีทั้งเกียร์ 5MT / 3AT

24 กุมภาพันธ์ 1986 เพิ่มตัวถังใหม่ เปิดประทุน CABRIOLET ที่เคยอวดโฉมครั้งแรกในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 26 เมื่อ 31 ตุลาคม 1985 เริ่มทำตลาดจริงด้วย ขุมพลัง E5 พ่วงเทอร์โบ 100 แรงม้า (PS) ที่ 5,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.2 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที ดิสก์เบรก 4 ล้อ

15 กรกฎาคม 1986 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 3 ประตู SPORT-16 ขุมพลัง B6 DOHC EGI สีทูโทน 3 สไตล์ (ขาว/เทา ดำ/เทา และ แดง/เทา) สปอย์เลอร์หลัง พวงมาลัย เพาเวอร์ กระจกมองข้างไฟฟ้า สีเดียวกับตัวถัง เซ็นทรัลล็อก หน้าต่างไฟฟ้า จำกัดเพียง 1,000 คัน

17 กุมภาพันธ์ 1987 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ โดยรุ่นซีดานแบ่งเป็น 2 สไตล์ คือ FF-LUXURY ใช้ชุดไฟหน้าดั้งเดิม แต่เปลี่ยนกระจังหน้าเป็นแบบกรอบโครเมียม ลายตาข่ายสีดำ พวงมาลัย 2 ก้าน ส่วนแบบ FF & 4WD SPORT เปลี่ยนชุดไฟหน้า ไฟเลี้ยวด้านข้าง เป็นนทรงเหลี่ยมร่วมสมัย และกระจังหน้าแบบสปอร์ตชุดใหม่ทั้งหมด เช่นเดียวกับรุ่นแฮตช์แบ็ก 3,5 ประตู แวกอน และเปิดประทุน ทุกตัวถังเปลี่ยนมาใช้ไฟท้ายพร้อมแผงทับทิมลายใหม่ รวมทั้งตกแต่งภายในด้วยโทนสีใหม่ เบาะนั่งบักเก็ตซีต ในบางรุ่น เปลี่ยนฝาครอบล้อแบบเต็ม 2 ลายใหม่ บางรุ่นเพิ่มสติ๊กเกอร์คาดข้างตามตำแหน่งต่างๆ แตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่นย่อย และสำคัญสุดคือ เริ่มหันมาใช้เครื่องยนต์ ตระกูลใหม่

เวอร์ชันญี่ปุ่น มีเครื่องยนต์ 4 สูบมากถึง 6 แบบ ดังนี้
- B3 SOHC 1,323 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 67 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.4 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/3AT มีเฉพาะรุ่น 3,4 ประตู ขับหน้า
- B5 SOHC 1,498 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 75 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.4 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/3AT มีทั้งรุ่น 3,4,5 ประตู แบบ
ขับหน้า หรือ 4WD
- B6 SOHC 1,597 ซีซี EGI 85 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 2,500 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/4AT เฉพาะรุ่น 3,4 ประตู ขับหน้าหรือ 4WD
- B6 DOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี EGI 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที (เหมือนรุ่น etude) เกียร์ 5MT/4AT มีทั้งรุ่น 3,4 ประตู และเปิดประทุน เฉพาะรุ่นขับหน้า
- B6 อินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบ 140 แรงม้า (PS) เกียร์ 5MT ไม่มีการปรับปรุงใดๆ มีเฉพาะรุ่น 3,4 ประตู GTX มีทั้งรุ่นขับหน้า และ FULL TIME 4WD พร้อมเฟืองท้าย ลิมิเต็ดสลิป LSD, CENTER DIFFERENTIAL LOCK และระบบปรับระดับความสูงต่ำของโช้คอัพด้วยไฟฟ้า
- PN ดีเซล ลดกำลังเหลือ 58 แรงม้า (PS) ที่ 4,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.7 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/4AT เฉพาะ 4 ประตู

เวอร์ชันส่งออก มีเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ ล้วนๆ 4 ขนาด
B3 SOHC 1,296 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 68 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 9.7 กก.-ม.ที่ 3,800 รอบ/นาที เกียร์ 4MT/5MT/3AT เฉพาะ 3,5 ประตู ขับหน้า
B5 SOHC 1,490 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 75 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.7 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/4AT เฉพาะรุ่น 3,5 ประตู ขับหน้า
B6 SOHC 1,597 ซีซี EGI 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที เฉพาะรุ่น 3 ประตู GTX เกียร์ 5MT ขับหน้า
B6 ทวินแคม 16 วาล์ว 1,597 ซีซี อินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบ แรงกว่าเวอร์ชันญี่ปุ่น 150 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 19.9 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที
เฉพาะรุ่น 3 ประตู GT-X 5MT 4WD เฟืองท้าย ลิมิเต็ดสลิป LSD พร้อม CENTER DIFFERENTIAL LOCK และระบบปรับระดับความสูงต่ำของตัวรถด้วยไฟฟ้า

24 เมษายน 1987 ไมเนอร์เชนจ์ให้รุ่นแวกอน เปลี่ยนจากขุมพลัง E5 ไปใช้รหัส B6 SOHC 1,597 ซีซี หัวฉีด EGI เวอร์ชัน 85 แรงม้า (PS) เชื่อมกับระบบ FULL TIME 4WD มีให้เลือกเพียงรุ่น 1.6 XGi เกียร์ 5MT รุ่นเดียว ส่วนรุ่นแวนส่งของ เปลี่ยนเฉพาะหน้าตาตามพี่น้องร่วมตระกูลแต่วางเครื่องยนต์และเกียร์เดิม ทั้ง E3 E5 และ PN

25 สิงหาคม 1987 เพิ่ม 2 รุ่นย่อยใหม่ แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ FULLTIME ทั้งแบบซีดาน XL 4WD LAVANTE และ 3 ประตู XR 4WD LAVANTE วางขุมพลังรหัส B5
28 สิงหาคม 1987 เพิ่มเกียร์ 4AT ให้กับรุ่น 4WD 1.6 XGi เชื่อมกับเครื่องยนต์ B6 ทั้งตัวถัง 3 ประตู 4 ประตู และ แวกอน และเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 3 ประตู เทอร์โบ 4WD GT-Ae
และรุ่นพิเศษ ซีดาน GRANZ ฉลองยอดผลิตครบ 3 ล้านคัน มาพร้อมคิ้วกันกระแทกและกระจกมองข้างปรับด้วยไฟฟ้าสีเดียวกับตัววถัง ผ้าเบาะสไตล์ EUROPA พวงมาลัย 3 ก้านจาก MOMO พร้อมเพาเวอร์ ล้ออัลลอยจากรุ่น SPORT-16 วิทยุ AM 2 ลำโพง เกียร์ 5MT/3AT จำกัดจำนวน 1,000 คัน

28 มกราคม 1988 เพิ่มรุ่นพิเศษ แฟมีเลีย SPORT และ ซีดาน 1500 S-XE
25 กุมภาพันธ์ 1988 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ CLAIR ให้ทั้งรุ่น 3 4 และ 5 ประตู และรุ่น PEPPER เฉพาะตัวถัง 3 ประตู ทุกรุ่นมีทั้งเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และอัตโนมัติ 3 จังหวะ รวม 8 รุ่นย่อย

16 มีนาคม 1988 ส่งท้ายด้วยการจับมือกับผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชันในญี่ปุ่น TACTICS DESIGN ออกรุ่นพิเศษ ซีดาน TACTICS DESIGN DOHC เกียร์ 5MT/4AT ตกแต่งด้วยกระจังหน้าสแตนเลสพร้อมโลโก้ของผู้ผลิตเสื้อผ้ารายนี้ พร้อมผ้าเบาะและผ้าบุประตูสีเทา ฯลฯ

ส่วนรุ่นแวกอน ยังคงทำตลาดต่อเนื่องไป โดยปรับโฉมครั้งต่อมาเมื่อ 14 พฤศจิกายน 1989 คราวนี้ ทั้งรุ่นแวกอน และแวนส่งของ มีให้เลือกทั้งรุ่นขับหน้า เครื่องยนต์ B3 B5 และ PN และรุ่น B6 4WD เหมือนกันหมด ไม่เพียงเท่านั้น แต่ในประเทศแอฟริกาใต้ ยังมีตัวถังพิเศษดัดแปลงเป็นรถกระบะขนาดเล็ก ใช้ชื่อว่า RUSTER ทำตลาด จนถึงทุกวันนี้

รุ่นนี้นยังคงกวาดรางวัลรถยอดเยี่ยมจากประเทศต่างๆอีกเช่นเคย ขณะที่เวอร์ชันแข่งของรุ่นนี้ในชื่อ 323 แรลลี คว้าชัยชนะในสนามมอนติคาร์โลอีกครั้ง เมื่อปี 1987

ในเมืองไทย รุ่นนี้ บุกตลาดโดยชูจุดขายที่หน้าปัด LCD เรดาห์ ในปี 1986 มีทั้งรุ่นซีดาน E3 68 แรงม้า (PS) เกียร์ 4MT/5MT และรุ่น 5 ประตู E5 เกียร์ 5MT ก่อน ปรับโฉมมาเป็นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ในปี 1987 ขุมพลัง B3 และ B5 เวอร์ชันส่งออก และกระตุ้นตลาดด้วยรุ่นกันชนสีเดียวกับตัวถังใช้ชื่อ COLORKEY เมื่อกลางปี 1988 จน กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของรถยนต์นั่งเมืองไทยยุคต่อมาที่ต้องใช้กันชนสีเดียวกับตัวถัง นอกจากนี้ยังมีรุ่นแวกอนที่ถูกสั่งนำเข้ามาใช้งานส่วนตัวอีกไม่กี่คัน




รุ่นพิเศษ etude
21 มกราคม 1987

ในยุคที่กระแส HI-SO CAR กำลังบูมในญี่ปุ่น ลูกค้าจำนวนมาก อยากได้รถยนต์ที่บ่งบอกถึงรสนิยมหรูแต่เรียบง่ายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือที่เรียกกันในญี่ปุ่นว่า PERSONAL SPACIALTY CAR มาสด้าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยการพัฒนา แฟมีเลีย เวอร์ชันพิเศษออกมาในชื่อ etude มีเฉพาะตัวถัง แฮตช์แบ็ก 3 ประตู ตกแต่งสวยหรูเกินกว่ารุ่นมาตรฐาน จุดเด่นอยู่ที่เสาหลังคาคู่หลัง C-PILLAR ถูกเก็บซ่อนด้วยแนวกระจกหน้าต่างคู่หลัง และกระจกบังลมหลัง มี 3 รุ่นย่อย คือ Gi Xi และ Li

มิติตัวถังยาว 4,185 มิลลิเมตร กว้าง 1,645 มิลลิเมตร สูง 1,355 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,400 มิลลิเมตร วางขุมพลังรหัสเดียว 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 1,597 ซีซี พร้อมระบบ HLA (HYDRALIC LASH ADJUSTER) ระบบแปรผันทางเดินไอดี VICS (VARIABLE INERTIA CHANGING SYSTEM) และระบบ ISC (IDLE SPEED CONTROL) 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์ 5MT/3AT




รุ่นที่ 7 รหัสรุ่น BG
FAIMILIA ,ASTINA /EUNOS 100 ,GT-X WRC
27 กุมภาพันธ์ 1989 - 7 มิถุนายน 1994

เปิดตัวด้วยตัวถังแฮทช์แบ็ค 3 ประตู และซีดาน ก่อนที่รุ่นแอสทีนา จะตามออกมาเมื่อ 22 มีนาคม 1989 มิติตัวถัง (รุ่น 3 ประตู /4 ประตู/ แอสทินา) ยาว 3,995 /4,215/ 4,260 มิลลิเมตร กว้าง 1,675 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,335 /1,375/1,390 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อยาว 2,450 / 2,500 / 2,500 มิลลิเมตร แต่ละตัวถังใช้ชิ้นส่วน ร่วมกันแทบไม่ได้เลย มีเพียงแค่รุ่น 3 และ 4 ประตู ที่ใช้มือเปิดประตูร่วมกันเท่านั้น

เวอร์ชันญี่ปุ่น แบ่งระดับการตกแต่ง 4 แบบจากรุ่นพื้นฐาน CLAIR SUPREME INTERPLAY และ GT มีขุมพลัง 4 สูบ ให้เลือก 5 แบบ โดยทุกตัวถังจะใช้เครื่องยนต์ร่วม กัน 3 แบบ คือ B5 SOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที รวมทั้งเวอร์ชัน ทวินแคม 16 วาล์ว ใน รหัส B5-DE 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.9 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที และ B6 ทวินแคม 16 วาล์ว 1,597 ซีซี 130 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที ทุกแบบมีทั้งเกียร์ 5MT/4AT

ส่วนรุ่น 3 และ 4 ประตู จะมีขุมพลังพื้นฐาน B3 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว 1,323 ซีซี 76 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้ง เกียร์ 4MT/3AT นอกจากนี้รุ่น 4 ประตูจะมีเครื่องยนต์ดีเซล PN 4 สูบ SOHC 1,720 ซีซี 58 แรงม้า (PS) ที่ 4,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.7 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/ นาที พร้อมเกียร์ 5MT/4AT เพิ่มเป็นพิเศษ

เวอร์ชันส่งออก ในช่วงแรก มีขุมพลัง 4 แบบ ทั้งรหัส B3 SOHC 16 วาล์ว 1,324 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 75 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.4 กก.-ม.ที่ 3,700 รอบ/นาที มีเฉพาะ รุ่น 3 ประตู ตามด้วย B6 SOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี คาร์บิวเรเตอร์ 87 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.7 กก.-ม.ที่ 3,100 รอบ/นาที มีทั้งรุ่น 4 ประตู และแอสทินา ทั้งคู่เชื่อมได้ทั้งเกียร์ 5MT / 3AT แรงสุดกับ BP DOHC 16 วาล์ว 1,840 ซีซี หัวฉีด EGI 140 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.6 กก.-ม.ที่ 4,700 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ 5MT และมีทั้งรุ่น 4 ประตูกับแอสทินา รวมทั้งเครื่องยนต์ดีเซล รหัส PN เวอร์ชันลดกำลัง 57 แรงม้า (PS) ที่ 4,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.4 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที มีเฉพาะรุ่น 4 ประตู เกียร์ 5MT เท่านั้น

ทุกรุ่นทุกเวอร์ชันใช้ระบบกันสะเทือนสตรัต ทั้งหน้า-หลัง และใช้ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม ยกเว้นรุ่น 1.6 DOHC และ 1.8 ลิตร ที่จะใช้ดิสก์เบรก 4 ล้อ

22 สิงหาคม 1989 เพิ่มทางเลือกขุมพลังใหม่ นำขุมพลัง B6 เวอร์ชัน SOHC จากเวอร์ชันส่งออก มาปรับปรุงให้แรงขึ้นเป็น 91 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิด สูงสุด 12.7 กก.-ม.ที่ 3,100 รอบ/นาที พร้อมเกียร์ 5MT/4AT มาพ่วงเฉพาะระบบ FULL TIME 4WD แบบธรรมดา กระจายแรงบิดหน้า-หลัง อัตราส่วน 50:50 มีเฉพาะ รุ่น 1.6 CLAIR และ 1.6 INTERPLAY ทั้ง 3 และ 4 ประตู

อีกทั้งยังเพิ่มขุมพลังรองท็อป BP 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,839 ซีซี อินเตอร์คูลเลอร์ เทอร์โบ 180 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 24.2 กก.-ม.ที่ 3,000 รอบ/นาที (อัตราส่วนน้ำหนัก/กำลัง = 6.4 กิโลกรัม/แรงม้า) มีเฉพาะเกียร์ 5MT ในรุ่น 4 ประตู และแอสทินามีเฉพาะระบบขับล้อหน้า แต่ในรุ่น 3 ประตู GT-X จะใช้ระบบ SPORT FULL TIME 4WD พร้อม CENTER DIFFERENTIAL และเฟืองท้าย VISCOUS LSD รวมทั้งเพิ่มระบบ 4W-ABS เป็นพิเศษ และระบบกันสะเทือนหลัง แบบสปอร์ต TOE-CONTROL LINK 4WS โดยรุ่น 1.8 ลิตร จะมีซันรูฟเป็นออพชันอีกด้วย

23 ตุลาคม 1989 เปิดตัว EUNOS 100 ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 27 ดัดแปลงจากแอสทินา เพื่อให้เป็นรถยนต์รุ่นเล็กสุดสำหรับทำตลาดในเครือข่ายจำหน่ายใหม่ สำหรับรถยนต์รุ่นหรูในชื่อ ยูโนส ที่มาสด้าเพิ่งตั้งขึ้นในปีเดียวกัน ความแตกต่างจากแอสทินา อยู่ที่รายละเอียดการตกแต่ง ภายนอก ทั้งโลโก้บนากระโปรงหน้า-หลัง พร้อมแผง ทับทิมหลัง คิ้วกันกระแทกรอบคันสีเดียวกับตัวถัง แต่ที่เด่นสุดคือฝาครอบกระทะล้อแบบเต็ม และสปอยเลอร์หลังซึ่งเป็นแบบยกสูงมีช่องให้อากาศลอดผ่าน ขณะที่ของแอสตินา แค่ยื่นออกมาเป็นปีกเฉยๆ ส่วนภายในต่างกันเพียงแค่ลายผ้าเบาะ กับพวงมาลัย 4 ก้าน แบบเดียวกับที่พบใน ยูโนส เพรสโซ/ออโตแซม AZ-3 ในเวลาต่อมา (แอสตินาเป็น แบบ สปอร์ต 3 ก้าน เหมือนเวอร์ชันไทย) นอกนั้น ทุกรายละเอียด เหมือนกับแอสทินาทุกประการ

มีให้เลือกเพียง 6 รุ่นย่อย 3 ระดับการตกแต่ง ขุมพลังเลือกได้ 2 ขนาด เป็นแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ทั้งคู่ คือ B5-DE 1,498 ซีซี เกียร์ 5MT 110 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.9 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที เกียร์ 4AT 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.2 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที ระบบเบรก หน้าดิสก์ หลังดรัม วางในรุ่น 1.5 TYPE A และ B กับ BP-ZE 1,839 ซีซี 135 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.0 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาทึ เกียร์ 5MT/4AT ดิสก์เบรก 4 ล้อ ในรุ่น 1.8 TYPE B ทำตลาดไปเรื่อยๆโดยไม่มีรุ่นย่อยพิเศษใดๆกระตุ้นเลย

20 กุมภาพันธ์ 1990 เพิ่ม 2 รุ่นย่อยพิเศษให้กับรุ่น 4 ประตู ทั้ง 1.5 COUTOUR สีตัวถังซีลเวอร์สโตน ภายในสีเทาเข้ม เพิ่มสปอยเลอร์หลัง จำกัดยอด 1,400 คัน และ 1.8 INFINI 135 แรงม้า (PS) ปรับปรุงระบบกันสะเทือนให้หนึบขึ้นจากเดิมเล็กน้อย ยางขนาด 195/50R15 พร้อมล้ออัลลอย BBS และชุดแอโรพาร์ต จำกัดยอด 1,000 คัน 28 พฤษภาคม 1990 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ 3 ประตู 1.8 GT-A เทอร์โบ 4WD เพิ่มสมรรถนะด้วยชุดแต่ง MAZDASPEED เพื่อให้พร้อมนำไปลงแข่งได้ทันที 3 กันยายน 1990 เพิ่มรุ่นพิเศษ 4 ประตู 1.5 AUTUMM VERSION จำกัดจำนวน 900 คัน

17 และ 23 มกราคม 1991 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ ปรับโฉมทั้งกระจังหน้า ลายไฟท้าย ชุดแอโรพาร์ต โทนสีตัวถัง และโทนสีการตกแต่งภายใน เพิ่มระบบ 4W-ABS ติด เซ็นเซอร์ที่ล้อทั้ง 4 และเพิ่มคานนิรภัยเสริมประตูทุกบาน ปรับปรุงขุมพลัง โดยเพิ่มพลังให้เครื่องยนต์ B3 ขึ้นเป็น 79 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที ขณะที่รหัส B5 แรงขึ้นเป็น 94 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที และ B5-DE แรงขึ้นเป็น 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที (เกียร์ 4AT 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที) แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที (เกียร์ 4AT 13.5 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที) แต่เพิ่มทางเลือกใหม่ รหัส BP 1,839 ซีซี 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 1,839 ซีซี ไม่มีเทอร์โบ จากเวอร์ชันส่งออก มาติดตั้งในเวอร์ชันญี่ปุ่น แต่ลดกำลังลงเหลือ 135 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.0 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ส่วนรุ่นดีเซล ไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ตัดรุ่นเกียร์ 4AT ออกไปเท่านั้น

1 มีนาคม 1991 3 ประตู 1.5 ทวินแคม MAZDASPEED VERSION TYPE-A ตกแต่งด้วยแอโรพาร์ตและชุดคิทของ MAZDASPEED จำกัดจำนวนเพียง 200 คัน

5 มิถุนายน 1991 เพิ่ม 2 รุ่นย่อยใหม่ ทั้ง 1.5 INTERPLAY-S และ 1.3 CLAIR-G ให้กับทั้งรุ่น 3 และ 4 ประตู

20 สิงหาคม 1991 เพิ่ม 2 รุ่นย่อยใหม่ ทั้ง 1.5 INTERPLAY-X และ 1.3 CLAIR G-SPACIAL ให้กับทั้งรุ่น 3 และ 4 ประตู

28 มกราคม 1992 เปิดตัวรุ่นแรงสุดในสายพันธุ์แฟมีเลีย 323 นั่นคือรุ่น 3 ประตู GT-R และ GT-Ae รหัสรุ่น BG8Z ตกแต่งด้วยแอโรพาร์ตสไตล์ดุดันรอบคัน มิติตัวถังยาว 4,080 มิลลิเมตร กว้าง 1,690 มิลลิเมตร สูง 1,390 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,450 มิลลิเมตร วางขุมพลัง BPD 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 1,839 ซีซี เทอร์โบ IHI รุ่น RHF6CB พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ 210 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 25.5 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที พ่วงเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะรุ่น G5M-R ขับ 4 ล้อ พร้อม เฟืองท้าย VISCOUS LSD กระจายแรงบิดสู่ล้อหน้า-หลังในอัตราส่วน 43% : 57% ปรับปรุงช่วงล่างให้แน่นและแข็งขึ้นเพื่อรองรับสมรรถนะ ยาง DUNLOP PERFORMER 195/50R15 81V ผลิตขึ้นเพียง 2,500 คันเท่านั้น เพื่อให้ผ่านกฎการเข้าลงแข่งแรลลีโลก WRC ในขณะนั้น

25 พฤษภาคม 1992 เพิ่มรุ่น 3 และ 4 ประตู 1.5 INTERPLAY-SE (SPACIAL EDITION) จำกัดจำนวน 4,000 คัน 1 กุมภาพันธ์ 1993 เพิ่มรุ่น 1.5 ทวินแคม INTERPLAY X-Limited เพิ่มสปอยเลอร์หลัง เบาะคนขับปรับด้วยไฟฟ้า และ 1.5 ทวินแคม INTERPLAY-R ปรับปรุงระบบ กันสะเทือนหน้า-หลัง เป็นพิเศษ พร้อมพวงมาลัย MOMO เบาะบักเก็ตซีตจากรุ่น GT และยางบริดจ์สโตน โพเทนซา 185/60R14 ขณะที่รุ่นแอสทินา เปลี่ยนมาใช้คิ้วกัน กระแทกสีเดียวกับตัวถัง รวมทั้งเพิ่มเครื่องเล่นเทปแบบ FULL LOGIC ให้ทุกรุ่น และรุ่น 3 ประตูทุกรุ่นย่อย เปลี่ยนผ้าเบาะโทนสีใหม่

แฟมีเลียรุ่นนี้นอกจากจะทำตลาดรุ่นซีดานในสหรัฐอเมริกาด้วยชื่อโปรทีเจเป็นครั้งแรกแล้ว ยังต้องแบ่งปันแพล็ตฟอร์ม และอะไหล่หลายชิ้นให้ฟอร์ดนำไปผลิตฟอร์ด เอสคอร์ท และ เมอคิวรี เทรเซอร์รุ่นสุดท้ายที่ทำตลาดสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1993-1999 อีกด้วย

เวอร์ชันไทย เปิดตัวในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 1990 มีทั้งรุ่นซีดาน ขุมพลัง B6 เกียร์ 5MT/3AT รวมทั้งรุ่นท็อป แอสตินา 1.8 ลิตร ขุมพลัง BP เกียร์ 5MT จากนั้น ปรับโฉมตามญี่ปุ่น โดยแอสทินา เพิ่ม เอบีเอส และตราโลโก้ใหม่ของมาสด้าในยุคนั้น ส่วนรุ่นซีดาน เพิ่มสปอยเลอร์หลัง ตกแต่งภายในใหม่ และเพิ่มรุ่น 1,300 ซีซี




รุ่นพิเศษ รหัสรุ่น EC
EUNOS PRESSO / AUTOZAM AZ-3 / Mazda MX-3 / Mazda MX-3 PRECIDIA / EUNOS 30X
17 พฤษภาคม 1991 / 18 มิถุนายน 1991 / แฟรงก์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ 1991


สำหรับเครือข่ายจำหน่ายยูโนส สำหรับรถหรู และออโตแซม สำหรับรถเล็ก ที่ตั้งขึ้นระหว่างปี 1989 - 1997 ยังมีรุ่นพิเศษให้เลือกอีก 2 แบบ 3 รุ่น คือยูโนส เพรสโซ และ ออโตแซม เอแซด-3 ทั้งคู่เป็น คอมแพกต์สปอร์ตคูเป้ 2 ประตู ที่ใช้ตัวถังและโครงสร้างต่างๆเดียวกัน ต่างกันที่การตกแต่งออพชัน โดยเพรสโซจะเน้นไปในทางหรู ขณะที่ เอแซด-3 จะเน้นไปในแนวเอาใจวัยรุ่น

มิติตัวถังยาวเท่ากันที่ 4,215 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,310 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,455 มิลลิเมตร เพรสโซเปิดตัวก่อนด้วยเครื่องยนต์ K8-ZE วี6 DOHC 24 วาล์ว 1,844 ซีซี 145 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที ที่ถูกบันทึกว่าเป็นเครื่องยนต์ วี6 ที่เล็กที่สุดในโลก มีทั้งเกียร์ 5MT/4AT ยาง 205/55R15 87V ดิสก์เบรก 4 ล้อ

เอแซด-3 ตามออกมาในอีก 1 เดือนให้หลัง วางขุมพลัง B5-ZE 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี EGI เกียร์ 5MT 120 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที เกียร์ 4AT 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที ยาง 185/65R14 86S ทั้งคู่ใช้ระบบ กันสะเทือนหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง หลังสตรัต ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม

24 กุมภาพันธ์ 1992 เอแซด-3 เพิ่มรุ่นพิเศษ AV-SPACIAL เพิ่มไฟตัดหมอกหน้าแบบโปรเจกเตอร์ แอร์ออโต และชุดแอโรพาร์ตรอบคัน พร้อมชุดเครื่องเสียง ซีดี-เชนเจอร์ 10แผ่น จากโซนี่

21 กันยายน 1993 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรกให้ทั้งคู่ เพสโซ ยกเครื่องยนต์ B5-ZE จาก เอแซด-3 มาเพิ่มเป็นทางเลือกใหม่ ขณะที่เอแซด-3 ก็ยกเครื่องยนต์ วี6 จากเพรสโซ ไปเป็นทางเลือกใหม่ให้กับตนเช่นเดียวกัน

จากนั้นจึงเพิ่มรุ่น 1.5 Si SELECTION ให้กับ เอแซด-3 เมื่อ 23 พฤษภาคม 1994 และเพิ่มให้กับ เพรสโซในวันรุ่งขึ้น (24 พฤษภาคม 1994) ปิดท้ายเมื่อ 22 เมษายน 1996 เพิ่มรุ่นพิเศษ เพรสโซ 1.5 Si SPACIAL EDITION ตกแต่งด้วยแอโรพาร์ตรอบคัน พร้อมไฟตัดหมอกหน้า

ส่วนรุ่นส่งออก ใช้ชื่อมาสด้า MX-3 เปิดตัวครั้งแรกในงานแฟรงก์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ 1991 และเริ่มทำตลาดในอเมริกาเหนือเมื่อเดือนธันวาคม 1991 ในฐานะรถรุ่นปี 1992 พร้อมๆกับเปิดตัวในแคนาดา ด้วยชื่อ MX-3 พรีซีเดีย ขณะเดียวกัน มาสด้าได้ก่อตั้งเครือข่ายจำหน่ายยูโนสขึ้นที่ออสเตรเลีย และส่ง MX-3 ไปขายที่นั่นด้วยชื่อ ยูโนส 30X วางขุมพลังรหัส K8 วี6 DOHC 24 วาล์ว 1,844 ซีซี 140 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที

ถึงรูปทรงจะสวยล้ำอนาคต แต่ด้วยยอดขายที่ไม่ถึงกัวหวือหวานัก อีกทั้งอยู่ในตลาดมานานแล้ว มาสด้าจึงค่อยๆยุติการทำตลาดคูเป้รุ่นนี้ในญี่ปุ่นและยุโรปช่วงปี 1998 ส่วน เมืองไทยมีการนำเข้ามาใช้เป็นการส่วนตัวไม่กี่คัน




รุ่นพิเศษ
LANTIS
24 สิงหาคม 1993 - กรกฎาคม 1997


ก่อนจะเปิดตัวแฟมีเลียรุ่นที่ 8 เพียง 10 เดือน มาสด้าเริ่มชิมลางด้วยการส่ง แลนติส ซีดาน 4 ประตู แบบไร้เสากรอบประตู (รหัสโครงการ J55E) รวมทั้งรุ่นคูเป 4 ประตู ไร้ เสากรอบประตูเช่นกัน (รหัสโครงการ J66F) ที่ทำตลาดทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทยในชื่อ 323F แอสทีนา จนสื่อมวลชนทั่วโลกสงสัยว่า แลนติส คือรุ่นที่จะมาทำตลาดแทน แฟมีเลียเดิมหรือไม่ จนกระทั่งแฟมีเลีย รุ่นที่ 8 เปิดตัวตามมา ความสงสัยจึงหายไป

พัฒนาขึ้นภายใต้รหัสโครงการ J55E และ J66F เพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มเดียวกับที่เคยใช้แอสทินาเดิม หรือพวกที่คิดจะซื้อสปอร์ตซีดานอย่างนิสสัน พรีเมรา นั่นเอง โดยใช้ พื้นตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบกันสะเทือนร่วมกับ แฟมีเลียรุ่นที่ 8 ทั้งหมด ดังนั้น อะไหล่หลายชิ้นจึงถอดเปลี่ยนใส่แทนกันได้ รูปทรงของรุ่นคูเป ออกแบบโดยศูนย์ วิจัยมาสด้ายุโรป ในเยอรมัน (MRE) ภายใต้การดูแลของ CHIEF DESIGNER ซึ่งเคยออกแบบปอร์เช 928 924 และ 944 มาแล้ว และถูกส่งไปทดสอบถึงสนาม นูร์เบอร์กริง ที่เยอรมัน เพื่อปรับปรุงสมรรถนะให้ดีขึ้น

มิติตัวถังรุ่นฮาร์ดท็อปยาว 4,490 มิลลิเมตร คูเป้ยาว 4,245 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,355 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,605 มิลลิเมตร วาง 2 ขุมพลัง รหัส BP-ZE 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,839 ซีซี 135 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที และ KF-ZE วี6 DOHC 24 วาล์ว 1,995 ซีซี 170 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.3 กก.-ม.ที่ 5,500 รอบ/นาที ทั้งคู่เชื่อมได้ทั้งเกียร์ 5MT/ 4AT แบบ EC-AT ระบบกันสะเทือนหน้า แม็กเฟอร์สันสตรัต หลัง คานยึด TTL ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม เอบีเอส ครบทุกรุ่น

14 กุมภาพันธ์ 1994 เพิ่มรุ่นย่อย แลนติส คูเป TYPE G LIMITED เพิ่มสปอยเลอร์หลัง วิทยุ-เทป 4 ลำโพง กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวถังพับด้วยไฟฟ้า ภายในสีเทา จำกัดจำนวน 1,000 คัน

กันยายน 1994 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งแรก เล็กน้อย เพิ่มท่อฮีตเตอร์ด้านหลัง เพิ่มโทนสีเทา THUNDER GREY และสีเงิน SILVER STONE จากนั้น 6 ตุลาคม 1994 เพิ่มรุ่นย่อย แลนติส คูเป TYPE G SPORT เพิ่มวิทยุ-เทป 4 ลำโพง แบบใหม่ สปอยเลอร์หลัง ล้ออัลลอย 14 นิ้วยกมาจาก แฟมีเลีย และไฟตัดหมอกหน้า จำกัดจำนวน 1,000 คัน ทั้งคู่ใช้เครื่องยนต์ BP-ZE และมีเฉพาะสีเงินกับสีดำ

3 กรกฎาคม 1996 ไมเนอร์เชนจ์ครั้งสุดท้าย ยกเลิกรุ่นซีดาน TYPE-S กับ 2.0 TYPE-X และคูเป้ TYPE-S กับ TYPE-X ออกไป เพิ่มเอบีเอส และถุงลมนิรภัยคนขับ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน วงพวงมาลัย เบาะนั่ง และแผงประตูถูกปรับปรุงใหม่ รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับโช้คอัพมากขึ้น แต่ภายนอกไม่เปลี่ยนแปลง

ตลอดอายุตลาด แลนติสไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากออกมาในช่วงที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นหันไปนิยมรถยนต์เพื่อสันทนาการ (หรือ RV : RECREATION VEHICLE) มากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายตกต่ำ อีกทั้งในปี 1994 สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ตกต่ำ ทำให้ยอดขายรถยนต์ลดลง และส่งผลกระทบต่อมาสด้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มาสด้าต้องเริ่มทะยอยยุติการผลิตรถยนต์รุ่นที่ขายไม่ออกทิ้ง ซึ่งแลนติส ก็อยู่ในข่ายดังกล่าวนี้เช่นกัน มาสด้ายกเลิกการทำตลาดแลนติสในญี่ปุ่นเมื่อเดือน พฤษภาคม 1997 อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า มาสด้าขายแลนติสคันสุดท้าย ในช่วงเดือนมีนาคม 1998 โดยอ้างอิงจากตัวเลขข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในสถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั่วญี่ปุ่น

สรุปยอดตัวเลขยอดส่งออกรวมหมดทั้งรถสำเร็จรูปทั้งคัน CBU และชิ้นส่วน CKD (หน่วย : คัน) 1994 1995 1996 1997 รวม ยอดผลิตรวมเฉพาะในญี่ปุ่น 57,263 63,036 55,320 57,519 233,138 ขายในญี่ปุ่น 19,097 6,988 3,108 851 30,044 ยอดส่งออก รวมทั้งประกอบนอกญี่ปุ่น 46,443 61,617 53,241 56,061 217,362

เวอร์ชันไทย รุ่น คูเป เข้ามาก่อนในช่วงแรก ทำตลาดในชื่อ 323 แอสตินา พร้อมกับ 323 ซีดาน เปิดตัวในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ เมษายน 1995 วางขุมพลังรหัส BP 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 1,840 ซีซี 125 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที และยืนหยัดกับรุ่นเดิมรุ่นเดียว โดยไม่มีการปรับ โฉมใดๆ




รุ่นที่ 8 รหัสรุ่น BH
FAMILIA,FAMILIA-NEO
8 มิถุนายน 1994 - 8 มิถุนายน 1998


หลังปล่อยให้แลนติสออกมาขัดตาทัพอยู่ 10 เดือน ก็ถึงคิวของแฟมีเลียโฉมใหม่ ตัวจริงเสียงจริง ออกมาในช่วงที่ตระกูลแฟมีเลียมีอายุครบรอบ 30 ปีพอดี ในช่วงแรกมีให้ เลือกทั้งแบบซีดาน และแฮตช์แบ็ก 3 ประตู บั้นท้ายทรงสูงในชื่อ นีโอ พัฒนาขึ้นภายใต้รหัสโครงการ J55H ออกแบบขึ้นร่วมกันระหว่างศูนย์วิจัยมาสด้าในอเมริกาเหนือ (MRA) และที่โยโกฮามา (MRY)

มิติตัวถัง (รุ่น 4 ประตู / นีโอ) ยาว 4,335 / 4,030 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูงระหว่าง 1,405-1,420 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,605 / 2,505 มิลลิเมตร ทั้ง 2 ตัวถัง มีขุมพลังให้เลือก 3 ขนาด เป็นบล็อก 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว EGI ทั้งหมด เลือกได้ทั้งเกียร์ 5MT/4AT แบบ EC-AT ดังนี้

- Z5-DE 1,489 ซีซี 97 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที
- B5-ZE 1,498 ซีซี เกียร์ 5MT 125 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.2 กก.-ม.ที่ 6,000 รอบ/นาที
เกียร์ 4AT 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.7 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที
- BP-ZE 1,839 ซีซี 135 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที (ใช้ร่วมกับแลนติส)
ระบบกันสะเทือนหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต หลัง คานยึด TTL ดิสก์เบรก 4 ล้อ พร้อม เอบีเอส มีเฉพาะรุ่น 1.8 นอกนั้น ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัมทั้งหมด

ส่วนแฟมีเลีย แวกอนรุ่นเดิม ที่ทำตลาดมาตั้งแต่ปี 1986 ถูกแทนที่ด้วย นิสสัน AD-WAGON และ AD-VAN (หรือ NV-A แวกอนในไทย) ที่มาสด้าซื้อจากนิสสันมาทำ ตลาดในชื่อ แฟมีเลีย WAGON และแฟมีเลีย VAN ส่งของ เมื่อ 5 กันยายน 1994 ช่วงแรกวางเครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ทั้ง GA13DS 1,295 ซีซี 79 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.6 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที GA15DE 1,497 ซีซี 94 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.8 กก.-ม.ที่ 3,600 รอบ/นาที และดีเซล CD17 1,681 ซีซี 76 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ 5MT/4AT และรุ่นขับล้อหน้าและ 4WD ให้เลือก

7 กันยายน 1994 เพิ่มทางเลือกขุมพลังและระบบขับเคลื่อนใหม่ให้เฉพาะรุ่นซีดาน ทั้งแบบ Z5-DEL (Z5-DE เวอร์ชันเผาไหม้ไอดีบาง LEAN BURN) 94 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะรุ่นขับล้อหน้า GS-L ตามด้วย B6-DE 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,597 ซีซี 115 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที เชื่อมกับระบบ 4WD พร้อมเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป LSD เพียงอย่างเดียว และเครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหม่ 4EFI-T SOHC 1,686 ซีซี เทอร์โบ 88 แรงม้า (PS) ที่ 4,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.0 กก.-ม.ที่ 2,500 รอบ/นาที มีทั้งรุ่นขับล้อหน้า และ 4WD ทั้งคู่ วางในรุ่นย่อย GS และ LS ทั้ง 3 ขุมพลัง เชื่อมได้หมดทั้งเกียร์ 5MT/4AT ยกเว้นดีเซล 4WD มีเฉพาะเกียร์ 5MT

11 กรกฎาคม 1995 รุ่นแวกอน เพิ่มถุงลมนิรภัย เพิ่มสมรรถนะให้เครื่องยนต์ GA15DE 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว EGI เป็น 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.8 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เพิ่มออพชันแพ็กเก็จ RV-PACK

21 สิงหาคม 1995 เพิ่มออพชันถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับให้กับ รุ่นย่อยใหม่เฉพาะซีดาน ทั้ง 1.5 LS-LIMITED เพิ่มก้านโยกปรับระดับเบาะรองนั่งคนขับ 1.5 RS-LIMITED เพิ่มลายผ้าเบาะใหม่ และชุดแพ็กเก็จกระจกไฟฟ้า-เซ็นทรัลล็อก และยางขอบ 14 ส่วนรุ่น 1.5 GS-LIMITED และ 1.5 GS-L LIMITED เพิ่มยางขอบ 14 ถุงลมฯ รวมทั้ง 1.5 และ 1.8 INTERPLAY-X เพิ่มลายผ้าเบาะใหม่และล้ออัลลอยลายเดียวกับในยูโนส โรดสเตอร์ (มาสด้า MX-5 เวอร์ชันญี่ปุ่น)ทุกรุ่นมีแต่เกียร์ธรรมดาล้วนๆ

17 ตุลาคม 1995 เพิ่มรุ่นย่อยให้กับ NEO ทั้งรุ่น 1.5 (Z5) LS-LIMITED และ 1.5 (B5) INTERPLAY-X LIMITED ครบทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ ยอดผลิตครบ 10 ล้านคันในเดือนธันวาคม 1995

5 มิถุนายน 1996 เพิ่มรุ่นแวกอน 1.8 XG TOURING เครื่องยนต์รหัส SR18DE 1,838 ซีซี 125 แรงม้า (PS) 6,000 รอบ/นาที 16 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที เกียร์ 4AT ขับล้อหน้า เพิ่มออพชันเอบีเอส 4 ล้อ และถุงลมนิรภัยเฉพาะคนขับ

25 ตุลาคม 1996 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ คราวนี้มาสด้ายกเลิกการทำตลาดรุ่น NEO ในญี่ปุ่น เนื่องจากไม่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า เพื่อแทนที่ด้วยรุ่นแฮตช์แบ็ก 3 ประตูที่ออกแบบขึ้นใหม่ ให้ดูเรียบง่ายและลงตัวขึ้น (ในยุโรปเรียกว่า 323P) มีขนาดตัวถังเท่ากับ นีโอ คราวนี้ นำนักเทนนิสชื่อดังของโลก อังเดร อากัสซี มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ภายใต้สโลแกน MY CAR IS SNEEKER ขณะที่รุ่น นีโอ ยังคงมีขายที่ยุโรป ในชื่อ 323 คูเป้ ปรับโฉมชุดไฟหน้า กระจังหน้า และชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมด ขณะที่ ลายไฟท้ายและแฝงทับทิม ถูกเปลี่ยนให้มีโทนสีแดงเข้มขึ้น ไฟเลี้ยวรอบคันเป็นสีขาว รุ่นซีดานเปลี่ยนมาใช้แผงหน้าแบบใหม่ เหมือนกับรุ่น 323P

ขุมพลังเลือกได้มากขึ้นถึง 6 แบบ แต่ที่ใช้ร่วมกันทั้ง 2 ตัวถัง 3 แบบ มีเฉพาะรุ่นขับล้อหน้าเท่านั้น คือรหัส B3-ME SOHC 1,324 ซีซี 85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.2 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที เกียร์ 5MT/3AT ที่เพิ่มมาใหม่ ตามด้วยรหัส Z5-DE DOHC อัพเกรดให้แรงขึ้นจาก 97 เป็น 110 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที และ BP-ZE 1,839 ซีซี เดิม ส่วนอีก 3 แบบที่เหลือ มีเฉพาะซีดาน ทั้งรหัส Z5-DEL B6-DE และ 4EFI-T ดีเซล เทอร์โบ ยังคงมีทางเลือกระบบขับเคลื่อนและเกียร์ เหมือนเดิมทุกประการ

5 มิถุนายน 1997 ปรับปรุงรุ่นแวกอน และแวน ยุติการทำตลาดรุ่นดีเซล CD17 แล้วแทนที่ด้วยรหัส CD20 SOHC 1,973 ซีซี 76 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิด สูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ 5MT/4AT ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน GA13DE อัพเกรดเป็น 85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.1 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที กับ GA15DE อัพเกรดให้แรงขึ้น มี 2 เวอร์ชัน รุ่นแวกอน / แวน 105/100 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.8 / 13.0 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที และดีเซล CD20 1,973 ซีซี 76 แรงม้า (PS) ที่ 4,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที ส่วนรุ่น SR18DE เพิ่ม เอบีเอส 4 ล้อ และถุงลมนิรภัยคู่หน้า ครบจากโรงงาน

ปิดท้ายเมื่อ 17 กรกฎาคม 1997 ด้วยรุ่นพิเศษ ซีดาน 1.5 LS-SPACIAL จำกัด 1,800 คัน และ 3 ประตู 1.3 TYPE-S SPACIAL จำกัด 1,200 คัน ทั้งคู่เพิ่มวิทยุ-เทป 2 ลำโพง กระจกไฟฟ้า เซ็นทรัลล็อก กระจกมองข้างไฟฟ้า ที่เปิดประตูสีเดียวกับตัวถัง

เวอร์ชันไทย ทำตลาดด้วยรุ่นซีดาน ควบคู่กับ แลนติส คูเป (แอสตินา) เปิดตัวงานบางกอกมอเตอร์โชว์ เมษายน 1995 วางขุมพลังรหัส B6 DOHC 16 วาล์ว 1,598 ซีซี 109 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.6 กก.-ม.ที่ 3,500 รอบ/นาที และปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ในปี 1997




รุ่นที่ 9 รหัสรุ่น BJ
PROTEGE & S-WAGON ERA
9 มิถุนายน 1998 - 14 ตุลาคม 2003


คราวนี้สวมวิญญาณสปอร์ตมากขึ้นกว่าเดิม แต่ลดทางเลือกตัวถังเหลือเพียงแบบซีดาน และ 5 ประตู ในชื่อใหม่ เอส-แวกอน สร้างขึ้นภายใต้ธีมดีไซน์ CONTRAST IN HARMONY ภายใต้รหัสโครงการ J39L

มิติตัวถัง (ซีดาน / 5 ประตู) ยาว 4,315 / 4,200 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,410-1,430 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,610 มิลลิเมตร เท่ากันทั้งคู่ เวอร์ชัน ญี่ปุ่น ทั้ง 2 ตัวถังจะใช้เครื่องยนต์ 4 สูบร่วมกันคือ รหัส ZL-DE DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี 110 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที และ ZL-VE DOHC 16 วาล์ว 1,498 ซีซี ระบบแปรผันวาล์ว S-VT (SEQUENTIAL VALVE TIMING) 130 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที

แต่รุ่นซีดาน จะมีเครื่องยนต์พิเศษอีก 2 ขนาด ทั้งรหัส B3-ME SOHC 16 วาล์ว 1,323 ซีซี 85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.2 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/ นาทีและ RF ดีเซล SOHC 1,998 ซีซี 70 แรงม้า (PS) ทื่ 4,650 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.2 กก.-ม.ที่ 2,500 รอบ/นาที ขณะที่รุ่น 5 ประตู จะเพิ่มเครื่องยนต์รหัส FP-DE DOHC 16 วาล์ว 1,839 ซีซี 135 แรงม้า (PS) ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.5 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที ทุกขุมพลัง ทุกระบบขับเคลื่อน เลือกได้หมดทั้ง เกียร์ 5MT และ 4AT

ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัท ส่วนด้านหลังเป็นแบบสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม และดิสก์ 4 ล้อ ขึ้นกับแต่ละรุ่น ย่อย พร้อม เอบีเอส และ อีบีดี เสริมถุงลมนิรภัยคู่หน้า และโครงสร้างตัวถังนิรภัย MAGMA

10 มิถุนายน 1999 สั่งซื้อนิสสัน AD แวกอน โฉมใหม่มาทำตลาดเองทั้งคันในแบบ OEM (ORIGINAL EQUIPMENT MANUFACTURING) ภายใต้ชื่อ แฟมีเลีย VAN และแฟมีเลีย BUSSINESS WAGON มิติตัวถังยาว 4,370 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,475-1,510 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,535 มิลลิเมตร มี เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว ให้เลือก 4 แบบ ทั้ง QG13DE 1,295 ซีซี 87 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 11.5 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที QG15DE 1,497 ซีซี 100 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีเฉพาะรุ่นขับล้อหน้า แรงสุดกับ QG18DE 1,769 ซีซี 120 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.4 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที มีเฉพาะรุ่น 4WD และเครื่องยนต์ดีเซล YD22DD 2,184 ซีซี 79 แรงม้า (PS) ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที มีทั้งรุ่นขับหน้า และ 4WD ทุกขุมพลังมีทั้งเกียร์ 5MT/4AT ยกเว้นรุ่น ดีเซล 4WD มีเฉพาะเกียร์ 5MT ระบบกัน- สะเทือน หน้าสตรัต หลังทอร์ชันบีม-เทรลลิงอาร์ม ระบบเบรกหน้าดิสก์-หลังดรัม

3 สิงหาคม 1999 เพิ่มรุ่น 5 ประตู SPORT20 ตกแต่งสปอร์ตรอบคัน ด้วยชุดกระจังหน้าพร้อมกันชนหน้าแบบพิเศษ เพิ่มขุมพลังใหม่แรงสุดของรุ่นนี้ รหัส FS-ZE 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,991 ซีซี 170 แรงม้า (PS) ที่ 6,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 18.4 กก.-ม.ที่ 5,000 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ 4AT พร้อมโหมดบวกลบ ACTIVE MATIC ที่ผู้ขับเลือกเปลี่ยนเกียร์ได้เอง ซึ่งถูกนำมาติดตั้งเป็นครั้งแรก พร้อมยาง 195/50R16 เพิ่มแทร็กชันคอนโทรล TCS มีทั้งรุ่นขับล้อหน้า และ 4WD

25 มกราคม 2000 เพิ่มรุ่นพิเศษ 5 ประตู 1.5 AIROAD (AIR-ROAD) ขับล้อหน้า 4AT เพิ่มชุดปีกข้างกันชนหน้า และสเกิร์ตข้าง กระจกครึ่งคันหลังเป็นสีเข้ม สีตัวถัง ขาว หรือ ดำ จำกัดจำนวน 1,000 คัน

23 ตุลาคม 2000 ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่เปลี่ยนชุดไฟหน้า กระจังหน้าพร้อมกันชนทรงสปอร์ตพร้อมไฟตัดหมอกหน้าขนาดใหญ่ในบางรุ่น ปรับปรุงระบบกันสะเทือน โครงสร้างตัวถัง และการตอบสนองของพวงมาลัยให้ดีขึ้น ปรับปรุงโทนสีห้องโดยสารใหม่ มี 4 โทน คือ Aggressive (5 ประตู SPORT 20) ใช้โทนสีไทเทเนียมและดำ โทน SPORTY (รุ่นย่อย RS) คอนโซลกลางสีไทเทเนียม มาตรัดพื้นขาว เบาะสีดำ โทน CASUAL (5 ประตู S-f/S-4 และซีดาน JS/ES) ภายในโทนสีดำตัดเทา และ โทน ELEGANT (ซีดาน LS) ภายในโทนสีเบจและน้ำตาลพร้อมชุดเครื่องเสียงแบบ MODULE สั่งติดตั้งได้ตามใจชอบ

เวอร์ชันญีปุ่นเพิ่มจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ISO-FIX และครั้งแรกที่เริ่มมีระบบนำร่องด้วยแผ่น CD-ROM ผ่านดาวเทียม GPS และระบบสื่อสาร TELEMATIC ที่เชื่อม ต่อกับอินเตอร์เน็ทและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ดิจิตอล i-MODE ของ NTT DoCoMo มาให้เป็นออพชันพิเศษ ส่วนรุ่น 5 ประตู SPORT 20 เพิ่มพวงมาลัยสปอร์ตหุ้ม หนังแท้จาก NARDI เสริมการทรงตัวด้วยระบบ DSC (DYNAMIC STABILITY CONTROL) ดิสค์เบรค 4 ล้อ พร้อมเอบีเอส และ ระบบกระจายแรงเบรค อีบีดี ถุงลม นิรภัยคู่หน้าและด้านข้างรวม 4 ใบ

รุ่นซีดานเพิ่มความยาวขึ้นจากเดิม 50 มิลลิเมตร มาอยู่ที่ 4,365 มิลลิเมตร ขณะที่รุ่นเอส-แวกอน ความยาวเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมเป็น 4,250-4,265 มิลลิเมตร นอกนั้นตัวเลข มิติตัวถัง ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

เวอร์ชันญี่ปุ่นทั้ง 2 ตัวถังยังคงวางขุมพลังหลัก ZL-DE และ ZL-VE เหมือนเดิม แต่รุ่นซีดาน เครื่องยนต์ดีเซล RF ถูกยกเลิกไป เหลือเพียงเครื่องยนต์ B3-ME ให้เลือก เพิ่มจากรุ่น 1,500 ซีซี เพียงแบบเดียว ส่วนรุ่น 5 ประตู ถูกตัดเครื่องยนต์รหัส FP-DE 135 แรงม้า (PS) ออกไป เพื่อหลีกทางให้กับรหัส FS-ZE เป้นทัพหน้าแทน

1 กุมภาพันธ์ 2001 เพิ่มรุ่นพิเศษ 5 ประตู Web tune @ S-WAGON เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เลือกสั่งซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ตามต้องการได้อย่างอิสระ ผ่านเว็บไซต์พิเศษ ของมาสด้าเอง http://www.w-tune.com ซึ่งมาสด้าเป็นผู้ผลิตรายแรกในญี่ปุ่นที่เปิดให้บริการ BUILT TO ORDER บนอินเตอร์เน็ต รุ่นนี้มีลายผ้าเบาะพิเศษให้เลือก เฉพาะผู้สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์เท่านั้น (อย่างไรก็ตามขั้นตอนสุดท้ายจะจบลงที่การตกลงซื้อขาย ณ โชว์รูมตัวแทนจำหน่ายอยู่ดี)

23 เมษายน 2001 เพิ่มรุ่นพิเศษ 5 ประตู 1.5 RS @ NAVI SPORT เพิ่มชุดแอโรพาร์ตรอบคัน ล้ออัลลอย 15 นิ้วผ้าบุประตูและลายผ้าเบาะพิเศษ พวงมาลัยหุ่มหนังจาก NARDI กุญแจ KEYLESS ENTRY คอนโซลกลางตกแต่งดวยลายคาร์บอน ไฟเบอร์ และเพิ่มระบบนำร่องผ่านดาวเทียม GPS-DVD พร้อมระบบ TELEMATICS จาก โรงงาน ถุงลมด้านข้างเป็นออพชัน จำกัดจำนวน 1,800 คัน

24 พฤษภาคม 2001 เพิ่มรุ่นพิเศษซีดาน MAZDASPEED FAMILIA สีน้ำเงิน STARRY MICA ล้ออัลลอย 17 นิ้ว RACING HART ก้าน สีทอง สวมยางขนาด 205/45R17 วางเครื่องยนต์ FS-ZE 1,991 ซีซี จากรุ่น 5 ประตู แต่ถูกปรับแต่งให้แรงขึ้นเป็น 175 แรงม้า (PS) เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะแบบ SHORT STOKE ท่อไอเสีย SPORTY SOUND ท่อร่วมไอดีทำจากสแตนเลส ปรับแต่งระบบกันสะเทือนใหม่ เสริมเหล็กกันโคลงทั้งหน้า-หลัง เสริมเหล็กค้ำโช้ค พร้อมแอโรพาร์ตจากรุ่น 5 ประตู SPORT 20 เพิ่มสปอยเลอร์หลังพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 และโลโก้ MAZDASPPED ตามจุดต่างๆ ภายในเพิ่มคอนโซลกลางสีเงิน ตัดกับคาร์บอนไฟเบอร์ พวงมาลัย 3 ก้าน จาก NARDI พร้อมหัวเกียร์หุ้มหนัง แป้นเหยียบอะลูมิเนียม และเครื่องเสียง 10 ลำโพง พร้อมเครื่องเล่น CD-MP3 จาก KENWOOD จำกัดจำนวน 100 คัน

15 ตุลาคม 2001 เพิ่มรุ่นพิเศษ 5 ประตู 2.0 SPORT 20 FIELD BREAK มีทั้งรุ่นขับหน้าและ 4WD ตกแต่งเป็นยานยนต์เพื่อสันทนาการ ด้วยชุดกันชนหน้าแบบพิเศษ พร้อมคิ้วเหนือซุ้มล้อและกาบข้าง ไฟหน้า DISCHARGE ไฟตัดหมอกหน้าขนาดใหญ่ ไฟตัดหมอกหลัง กระจกบังลมหน้า กระจกประตู และกระจกมองหลัง เคลือบสาร ป้องกันการเกาะตัวของหยดน้ำ เบาะและผ้าบุประตูลายพิเศษ เบาะคู่หน้าพับเป็นโต๊ะวางของได้ (เดิมมีเฉพาะฝั่งผู้โดยสารตอนหน้า) กุญแจลายพิเศษ ล้ออัลลอย 15 นิ้ว พร้อม ยาง 195/60R15 และเฉพาะรุ่นขับหน้าจะถูกยกความสูงจากพื้นดินเพิ่มขึ้ยอีก 30 มิลลิเมตร จำกัดจำนวน 1,000 คัน

6 ธันวาคม 2001 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ SPORT20 ให้ซีดาน ยกชุดกันชนพร้อมสปอยเลอร์หน้าและไฟตัดหมอก สเกิร์ตด้านข้าง ล้ออัลลอย 16 นิ้ว พวงมาลัยและหัวเกียร์จาก NARDI คอนโซลกลางสีเงิน และขุมพลัง FS-ZE มาจากรุ่น 5 ประตู SPORT 20 แต่เพิ่มชุดไฟหน้าแบบ DISCHARGE เป็นครั้งแรก

ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงรุ่น 5 ประตู ด้วยชุดไฟท้ายลายใหม่ และเพิมออพชันให้แต่ละรุ่น โดยรุ่น SPORT 20 เพิ่มชุดไฟหน้า DISCHARGE พร้อมไฟเลี้ยวพื้นสีขาวที่ซุ้มล้อ คู่หน้า กระจกพร้อมสารเคลือบลดการเกาะตัวของละอองน้ำ คอนโซลกลางสีเงิน และระบบนำร่อง พร้อมแผ่นแผนที่ DVD ส่วนรุ่น RS และ RS S-PACKAGE เพิ่มชุด แอโรพาร์ตรอบคันจากรุ่น SPORT 20 คอนโซลกลาง สีเงิน/น้ำเงิน และแผงประตู สีน้ำเงิน/ดำ ขณะที่รุ่น S-f, S-4 เปลี่ยนมาใช้พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน นอกจากนี้ ยังเพิ่ม ขนาดถังน้ำมันรุ่นขับล้อหน้าทุกรุ่นทั้งซีดานและ 5 ประตู ขับล้อหน้า จาก 50 เป็น 55 ลิตร

สิงหาคม 2002 อัพเดทรุ่นแวนอีกครั้งด้วยการอัพเกรดขุมพลังเดิมทั้งหมด QG13DE 90 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.2 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที QG15DE 106 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.5 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที QG18DE 1,769 ซีซี 122 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.8 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที และเวอร์ชันก๊าซ CNG รหัส QG18DEN 105 แรงม้า (PS) ที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.2 กก.-ม.ที่ 2,800 รอบ/นาที

4 กันยายน 2002 ปรังปรุงรุ่นย่อย S-f SPACIAL และ S-4 SPACIAL เพิ่มกุญแจ KEYLESS ENTRY แต่ลดราคาขายให้ถูกกว่ารุ่น S-f และ S-4 เดิม

24 ธันวาคม 2002 เพิ่มรุ่นย่อยใหม่ เอส-แวกอน SPORT20 SPACIAL เป็นการปิดท้าย มีทั้งรุ่นขับล้อหน้า เกียร์ 4AT ACTIVEMATIC และรุ่น 4WD เกียร์ 5MT / 4AT ตกแต่งพิเศษด้วยแถบด้านบนกระจังหน้าสีเดียวกับตัวถัง ชุดไฟหน้าพื้นดำ ล้ออัลลอย 16 นิ้ว 5 แฉก เบาะผ้าสลับหนังเทียม พวงมาลัยหุ้มหนังเทียมจาก NARDI และหัวเกียร์ หุ้มหนังเพิ่มขนาดเหล็กกันโคลงหน้าให้มีเส้นผ่าศูนย์กลางเป็น 23 มิลลิเมตร และปรับปรุงยางหัวโช้คอัพ เพื่อให้ขับขี่ดีขึ้น ระบบ DSC มีเป็นออพชัน

เวอร์ชันไทย ระยะแรกขึ้นสายการผลิตที่โรงงาน AAT ของมาสด้า/ฟอร์ด ที่ระยอง เผยโฉมในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 3 ธันวาคม 1999 เริ่มทำตลาด เดือนมีนาคม 2000 ด้วย เครื่องยนต์ ZMD DOHC 16 วาล์ว 1,600 ซีซี พร้อมระบบแปรผันท่อไอดีรวม VICS 107 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.4 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที มีทั้งเกียร์ 5MT / 4AT และ 1,800 ซีซี มีการเพิ่มรุ่นตกแต่งพิเศษ ทั้งรุ่น SPORT 18 สีเหลือง SPORT 18 NINJA สีดำ เป็นระยะๆ

จากนั้นจึงปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ในเดือนมีนาคม 2002 ยกเลิกสายการผลิตในไทย ย้ายไปสั่งนำเข้าจากโรงงานของ AAT ฟิลิปปินส์ แทน เสียภาษีนำเข้าเพียง 5% ตาม ความร่วมมือ 4 ประเทศอาเซียน หรือ AICO นอกจากนี้ยังยกเลิกรุ่น 1,800 ซีซี แล้วเปิดตลาดใหม่ด้วยเครื่องยนต์ 2,000 ซีซี FSD DOHC 16 วาล์ว 2,000 ซีซี 131 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 17.4 กก.-ม.ที่ 4,500 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์เกียร์ 4AT โดยยังทำตลาดรุ่น 1,600 ซีซี เหมือนเดิม จากนั้นจึงกระตุ้นตลาด เมื่อเดือนธันวาคม 2002 ด้วยรุ่น 1.6 G-FORCE จับมือโปรโมทร่วมกับค่ายเพลง Sony Music BEC-TERO และจะปิดท้ายด้วยรุ่นพิเศษในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ที่ อิมแพ็ค ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

ข้อมูลอ้างอิง
http://www.mazda.co.jp/history/familia
http://www.netlaputa.ne.jp/~haha/lantische
http://www.mx-3.com
แค็ตตาล็อกและเอกสารประกอบการขายของมาสด้าในช่วงปีต่างๆ
ขอขอบคุณ
- คุณชาลี เอมอมร อู่ เฟอร์รารี เพอร์ฟอร์แมนซ์ โทร.0-2319-8103
- คุณพงษ์ชนก ไพสิฐพัฒนพงษ์
ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลในส่วนที่ขาดหาย