Close this window

วิธีซ่อมและแก้ไขสัญญาณจุดระเบิดที่ตัวกล่อง ECU ……ของ Lantis-V6
ก็เป็นการนำเอาความรู้มาฝากเพื่อนๆและน้องๆที่ใช้มาสด้า Lantis V6 ที่มีปัญหาไม่สามารถที่จะสตาร์ทเครื่องยนต์ให้ติดได้ เพราะไม่มีสัญญาณจุดระเบิด IGT ที่กล่อง ECU เป็นตัวสร้างสัญญาณนี้หลังจากที่มันได้รับสัญญาณจากแคร้งชาร์ปเซ็นเซอร์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ หากไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือตรวจเช็คด้านอีเลคโทรนิคส์เข้ามาช่วยวิเคราะห์ ก็จะตรวจเช็คแก้ไขลำบาก

ก็ท้าวความที่มาของปัญหาก่อนว่า ได้มีรถของน้องในชมรมมาสด้าคลับแห่งนี้ มีปัญหาไม่สามารถที่จะทำการสตาร์ทเครื่องยนต์ให้ติดทำงานได้ แม้พยายามที่จะแก้ไขจากที่อื่น ก็ยังแก้ไขไม่ได้ น้องเขาจึงได้ว่าจ้างรถยกขนไปจอดไว้ที่หน้าบ้านผม ขอให้ช่วยซ่อม ก็เป็ฆที่มาของปัญหาที่ทำให้ผมได้มีโอกาสนำเอาข้อมูลวิธีการตรวจซ่อมมาฝาก ก็มาเข้าประเด็นดีกว่าครับ

จากการที่ได้ตรวจสอบการทำงานของวงจรจุดระเบิดด้วย Digital oscilloscope ก็ทราบที่มาของปัญหาว่า สัญญาณพัลส์ที่ส่งมาจากแคร้งชาร์ปเซ็นเซอร์ ปรากฏว่าทำงานปกติ และส่งสัญญาณพัลส์นี้มาที่ ECU เมื่อ ECU ได้รับสัญญาณพัลส์ที่ส่งมาจากแคร้งชาร์ปเซ็นเซอร์แล้ว มันจะสร้าสงสัญญาณ จุดระเบิด IGT ส่งไปให้วงจรช่วยจุดระเบิดทำการสร้าง ไฟโวลเต็จสูงให้กับหัวเทียน

แต่เมื่อทำการตรวจจับสัญญาณพัลส์ IGT ที่ ECU generate ขึ้นมา ปรากฏว่าไม่มีสัญญาณนี้ส่งไปให้วงจรช่วยจุดระเบิด ก็ทำให้แน่ใจว่าที่กล่อง ECU มีปัญหา หรือเสีย (ตามที่หลายคนเข้าใจ) การที่เราทราบว่าไม่มีสัญญาณ IGT ออกมาจากกล่อง แล้วควรจะทำอย่างไร ในเมื่อมีเครื่องมือทางด้านอีเลคโทรนิคส์มาเป็นหูเป็นตา ที่สามารถมองเห็นการทำงานของระบบควบคุมคอนโทรลในภาคส่วนต่างๆของ อุปกรณ์อีเลคโทรนิคส์ ก็ต้องค้นหาสัญญาณที่ว่านี้ ว่ามันไม่มีจากส่วนใดในเมนบอร์ดของกล่อง ECU

ก็ต้องหาวิธีการตรวจซ่อมวงจรที่ทำหน้าที่จ่ายสัญญาณ IGT ในกล่องของว่ามันเสียที่ส่วนไหน ที่ช่างทั่วไปไม่อยากซ่อม เนื่องจากแผงวงจรเมนบอร์ดในกล่อง ECUทั่วๆไปแล้ว ไม่มีรายละเอียด ของ circuit diagram ทำให้ไม่ทราบว่าสัญญาณ แต่ละภาคส่วน ของการประมวลผลที่มโครคอนโทรลเลอร์ ส่งข้อมูลไปให้วงจรอีเลคโทรนิคส์ส่วนไหนทำงานบ้าง ก็ต้องมานั่งไล่ลายปริ้นบนแผงเมนบอร์ด แล้วเขียนเป็น circuit diagram ออกมา ในส่วนของวงจรที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ IGT เพื่อเอามานั่งวิเคราะห์การทำงานของวงจร จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ยาก ที่จะมานั่งไล่ลายปริ้นเขียนออกมาเป็นวงจร circuit มันต้องเพียรพยายามแกะออกมาแต่ละส่วนของลายปริ้น ว่ามันไปต่อที่ต้นทางปลายทางอย่างไร หรือไปเชื่อมต่อกับส่วนไหนอย่างไร และอีกหลายส่วนที่ทำงานร่วมกัน มีทั้งลายปริ้นที่ต่อถึงกันทั้งสองหน้าของแผงปริ้นบอร์ด หรือ สอง layer

ที่สำคัญต้องหาจุดทางออกของสัญญาณนั้นๆว่า เริ่มต้นที่ขาของหัวเสียบคอนเน็คเตอร์ที่ pin ขาเสียบที่เท่าไหร่ แล้วเราถึงจะไล่เส้นทางของสัญญาณพัลส์ หวนกลับเข้าไปหาเส้นทางของสัญญาณพัลส์ที่เป็นจุดกำเนิด หรือเส้นลายปรื้นทางเดินของสัญญาณไปเชื่อมต่อที่ส่วนได เป็นตัว IC หรือ ค่า R/C และtransistor เมื่อลายปริ้นของสัญญาณสิ้นสุดที่ตัว IC หรือ transistor ก็จะต้องรู้ว่า เป็น IC ประเภทไหน ทำหน้าที่อะไรในโครงสร้างของมัน transistor ก็เช่นกัน ต้องรู้ว่า เป็นทรานซิสเตอร์ประเภทไหน ทำงานย่านไหน พวก RF/AF หรือ switching เป็น NPN หรือ PNP เราจำเป็นที่จะต้องทราบโครงสร้างของมัน ในการวิเคราะห์การทำงาน

หลังจากใช้เวลาในการเขียน circuit ของส่วนที่ทำหน้าที่ generate สัญญาณ IGT จากลายปริ้นของเมนบอร์ดออกมาอย่างเคร่าๆแล้ว ก็ทำให้มองเห็นปัญหาที่จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น และได้ความรู้บางอย่างจากวงจร ที่ทำไมในการ coupling สัญญาณพัลส์ ที่ส่งผ่านสายเคเบิลหรือสายไฟ ที่มีระยะความยาวของสายไฟ เขาจึงอาศัยการ coupling แบบ direct coupling หรือขยายสัญญาณทางกระแสโวลเต็จ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการรบกวนของสัญญาณต่างๆ ที่เป็นพวก static และที่สำคัญการขยายสัญญาณพัลส์ที่เป็นแบบกระแสโวลเต็จนี้ ทำให้มีรูปร่างของสัญญาณไม่เกิดการ distortion และเกิดการ loss ของสัญญาณ เมื่อส่งสัญญาณนี้ต่อไปให้วงจรช่วยจุดระเบิดทำงาน ทำให้ทั้งช่วงของคาบเวลาและช่วงเวลาความถี่ที่เกิดสัญญาณพัลส์ แต่ละพัลส์คงที่ นี้ก็เป็นข้อดีที่เขาออกแบบมา

เมื่อได้วงจรของทรานซิสเตอร์ ที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ output ของ IGT ก็นำเอา oscilloscope มาทำการตรวจวัดสัญญาณทางด้าน input หรือขา Base ของทรานซิสเตอ์ เรารู้อยู่แล้วว่า ทางด้าน output ซึ่งเป็นทางออกของสัญญาณ ที่ส่งไปให้วงจรช่วยจุดระเบิดทำงาน มันไม่มีสัญญาณออกมา เมื่อทำการวัดสัญญาณ input ที่ขา BASE ของทรานซิสเตอร์ (ต้องสตาร์ทเครื่องยนต์ ในขณะที่ทำการวัดสัญญาณ) ปรากกฎว่า มีสัญญาณจุดระเบิด IGT ที่ ECU สั่งให้ตัว IC generate สัญญานนี้ออกมา แล้วให้ทรานซิสเตอร์ตัวนี้ขยายสัญญาณพัลส์ ให้มีความแรงของสัญญาณ IGTเพิ่มขึ้น แล้วส่งเป็น direct coupling ไปเข้าขา BASE ของ switch transistor ของวงจรช่วยจุดระเบิดที่ตัวจานจ่าย

จากการวัดความแรงของสัญญาณ ด้วย digital storage oscilloacope ได้ความแรงของสัญญาณที่ peak to peak = 248 มิลลิโวล (จะมีภาพของรูปร่างสัญญาณ IGT พร้อมค่าระดับความแรงของสัญญาณที่เกิดขึ้น ในช่วงท้ายๆของเนื้อหานี้)

การวัดด้วย oscilloscope ทำให้เราทราบว่า ที่แท้จริงแล้ว หลังจากที่ ECU ได้รับสัญญาณจาก
แคร้งชาร์ป แล้ว มันก็ generate สัญญาณ IGT ออกมาให้แล้ว แต่มันไม่ได้รับการขยายสัญญาณจากขา C ของทรานซิสเตอร์ตัวที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ จึงมีมีสัญญาณจุดระเบิดส่งไปให้วงจรช่วยจุดระเบิด เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ทำให้เราทราบทันทีว่า ที่ตัวทรานซิสเตอร์มันอาจจะเสีย จึงไม่มีการขยายสัญญาณออกมา การที่เราได้ใช้ oscilloscope วัดจับสัญญาณพัลส์ออกมาได้ และรู้ว่าไม่มีสัญญาณพัลส์ที่ขยายออกมาทาง output เราจะด่วนตัดสินใจว่าเป็นที่ทรานซิสเตอร์ตัวที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณนี้เสียโดยทันทีคงไม่ได้ เพราะมีปัจจัยร่วมของการขยายสัญญาณ ที่เป็นแบบ direct coupling ที่กระแสของขา C ของทรานซิสเตอร์ที่ทำหน้าที่ขยาย ต่อไปยังขา BASE ของ switching transistor ของวงจรช่วยจุดระเบิดที่อยู่ในตัวจานจ่าย

หาก switching transistor มันเสีย เกิดขา E กับขา B มันชอร์ทถึงกัน ก็จะทำให้สัญญาณ IGT ถูกชอร์ทลงกราวด์ด้วย เราก็จะวัดสัญญาณ IGT ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการตรวจเช็ค transistor ที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ IGT เราจึง ต้องมีการวัดค่าโวลเต็จที่ขา B และขา C ของมันด้วยว่าในขณะที่ทำงาน มันมีค่าโวลเต็จต่างกันอย่างไร เพื่อมาวิเคราะห์การทำงานของมันอีกครั้ง

จาการตรวจวัดค่า voltage ที่ขา B และขา C ได้ความว่า ที่ขา B วัดได้ 3.32 vollt และที่ขา C วัดได้ 3.12 volt มันเป็นเรื่องที่ตลกมาก เพราะปกติที่ขา B จะมีค่า voltage ที่สร้าง Bias voltage ให้กับ ทรานซิสเตอร์ประมาณ จุดของโวลท์ หรือประมาณ 0.2-0.5 volt และที่ขา C จะประมาณ 3-4 volt เมื่อมี +Vcc =5 volt และถ้าหากมีการขยายสัญญาณแบบ direct coupling ที่ขา C ของทรานซิสเตอร์ที่ขยายสัญญาณ จะวัดได้ประมาณ 0.5 volt จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับค่าR load ของขา C แต่ในบอร์ด กล่องECU ของมาสด้ารุ่นนี้ วัดได้ 0.54 volt( เมื่อปกติมีสัญญาณ IGT ออกมา)

เมื่อค่าที่วัดได้ออกมาตลกๆแบบนี้ ทำให้ทราบได้ทันทีว่า ที่ตัวทรานซิสเตอร์ ตัวที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ IGT มันมีขา E กับ C เกิด open คือมันไม่ต่อ junction ที่รอยต่อ ขั่ว P และขั่ว N กล่าวคือหากเราวัดค่าโอมห์ที่ขาของทรานซิสเตอร์ดังกล่าว จะวัดไม่ขึ้น เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเป็นอย่างที่กล่าวหรือไม่
ก็ต้องถอดเอาทรานซิสเตอร์นี้ออกมาวัด (อย่าวัดในวงจรที่ขาทรานซิสเตอร์บัดกรีติดกับปริ้น) ผลจากการวัดค่าโอมห์ที่ขาของทรานซิสเตอร์ ปรากฏว่าเป็นไปตามที่กล่าว และ เป็นการยื้นยันว่าทรานซิสเตอร์ตัวนั้นเสียจริง

เมื่อทราบว่าเสียก็จำเป็นที่จะต้องหาซื้อมาเปลี่ยน แต่ทราบหรือไม่ว่าหาซื้อตามตลาดบ้านหม้อ ไม่มีขาย ก็จำเป็นที่จะต้องซื้อกล่อง ECU มือสองมาเปลี่ยน แต่กลับโชคไม่ดีซื้อมาแล้วกลับใช้ไม่ได้ ทั้งที่หน้าตาและช่องปลั๊กเสียบเหมือนกัน แต่เป็นคนละรุ่นในรถมาสด้า ก็กลับเอาไปเปลี่ยนเป็นครั้งที่สอง ก็ซวยเป็นครั้งที่สองใช้ไม่ได้อีก ก็เลยตัดสินใจไม่เอาไปเปลี่ยน แต่ถอดออกมาบัดกรีเอาตัวทรานซิสเตอร์ที่เป็นเบอร์เดียวกัน( GA41) ที่มีอยู่ในกล่อง ECU ที่ซื้อมา เอามาเปลี่ยนกับตัวที่เสีย

หลังจากที่ทำการเปลี่ยนทรานซิสเตอร์เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการทดลองสตาร์ทเครื่องยนต์ จึ๊งเดียวติด ถามว่ามีความรู้สึกอย่างไร ก็ตอบว่างานนี้ทำให้ได้ทราบและได้รู้ในสิ่งที่อยากรู้ สมกับค่าเวลาและความตั้งใจ ที่จะเอาชนะมันในการแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงควรจะเสียค่าซื้ออะไหล่แค่ไม่กี่บาท กลับไปเสียค่าซื้อกล่องมือสอง มาสามพันสองร้อยบาท เอาล่ะก็เก็บเอาไว้เป็นอะไหล่ซ่อมให้กับคันอื่นๆหากเสียในอาการเดียวกัน ความรู้แม้ว่าบางครั้งจะลงทุนด้วยความเหนื่อยยาก และความเสียหายที่เกิดขึ้น และสูญเสียเงินทองขึ้นมาบ้าง แต่ผลรับมันคุ้มค่า กับเวลาและสิ่งที่เสียไป

เมื่อสามารถที่จะสตาร์ทเครื่องยนต์ให้ติดได้ตามปกติแล้ว ก็ได้นำเอาเจ้า oscilloscopทำการตรวจวัด
สัญญาณ IGT ที่ผ่านการขยายของทรานซิสเตอร์ที่เปลี่ยนลงไปแทนตัวที่เสีย จากการวัดสัญญาณ output ได้ความแรงของสัญญาณพัลส์ =2.72 volt หรือคิดเป็นมิลลิโวลท์ = 2720 มิลลิโวลท์
ซึ่งมีความแรงเป็นสิบกว่าเท่าของสัญญาณทางด้าน input ที่ขา BASE ที่วัดได้ในคราวแรก ผมจะทยอยภาพจากการวัดสัญญาณด้วย digital oscilloscope ต่อจากเนื้อหานี้

สำหรับรถมาสด้า Lantis-V6 นี้ หากท่านเจ้าของรถที่มีปัญหาเดียวกันนี้ แล้วได้ทดลองตรวจสอบตามขั้นตอนที่ผมแนะนำมา หากยังไม่สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้ ก็ขออย่าได้กังวลไป เพราะสิ่งที่ดำพแนะนำนั้นขอยืนยันว่าถูกต้อง แต่มันมีปัจจัยร่วมแบบโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น เนื่องจากรถที่ท่านเจ้าของรถนำไปติดตั้งเชื้อเพลิงสองระบบ หรือติดตั้งแก็ส LPG แล้วช่างที่ติดตั้ง ได้ทำการติดตั้ง Auto switch เพื่อเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิง โดยช่างได้นำเอาสายไฟที่เป็นสายสัญญาณวัดความเร็วรอบของเครื่องยนต์ ไปใช้เป็นตัวกำหนดการ transfer การเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิง ของกล่อง Auto switch
ดังนั้นช่างจึงเอาสายไฟสัญญาณที่เข้ากล่อง Auto switch ไปต่อที่ ขา C ของ switching transistor ซึ่งปกติที่จุดนี้ จะมีไฟ 12 volt จากการเปิดสวิชทฺกุญแจในตำแหน่ง ON ไหลผ่านขดลวด ของตัว Ignition coil ที่ขดไพรมารี่ มาเข้าขา C โดยให้สวิชชิ่งทรานซิสเตอร์ ทำหน้าที่ตัดต่อกระแสไฟที่ไหลผ่านขดลวดไพรมารี่ลงกราวด์ เพื่อสร้างสนามแม่เหล็ก อินดิวส์ไปที่ขดลวดทางด้านเซ็คคั่นดารี่ มีกระแสไฟโวลเต็จสูง ทั้งยังมีสัญญาณพัลส์เกิดขึ้นที่จุดนี้

เมื่อช่างเอาสายไฟสัญญาณมาต่อเอาสัญญาณพัลส์ความเร็วรอบของเครื่องยนต์ไปใช้ เท่ากับว่ามีไฟไปที่สายสัญญาณวัดความเร็วรอบของกล่อง Auto switch ด้วย แต่ในวงจรของ Auto switch เขาใช้ค่า capacitor บล็อกกระแสไฟโวลเต็จเอาไว้ เอาเฉพาะสัญญาณพัลส์ ที่เป็นรูปแบบของ ซายน์เว็ฟหรือสแควเว๊ฟ coupling เข้าวงจร Frequency to voltage

เมื่อใดก็ตามที่วงจรของ Auto switch มันเสียเกิดการชอร์ทภายในวงจร ทำให้ไฟที่ขา C ของ switching transistor ถูกชอร์ทลงกราวด์ด้วย ทำให้ไม่มีไฟ 12 volt จ่ายไปที่ขา C ทำให้วงจรสร้างไฟโวลเต็จสูงให้กับหัวเทียน ไม่ทำงาน มันก็สตาร์ทไม่ติด ต้องระวังไว้ด้วย หากเกิดกรณีอย่างนี้ ในทางปฏิบัติ ให้เราทำการตัดสายไฟสัญญาณความเร็วรอบเครื่องยนต์ เส้นที่ต่อเข้ากล่อง Auto switch ออก ก็สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้ ตามสเต็ปการตรวจเช็คที่ผมแนะนำมาก็เป็นเกล็ดข้อมูลความรู้มาเสริมให้

แต่ก่อนที่จะโพสภาพมาให้ชมกัน อยากจะสรุปวิธีการตรวจสอบอาการที่เสียนี้ ด้วยเครื่องมือวัด VOM หรือโวลท์ โอมห์ มิเตอร์ ทั่วๆไป หรือจะเป็น ดิจิตอลมิเตอร์เพียงตัวเดียวก็ได้ เพื่อให้เพื่อนๆและน้องๆ ได้วิเคราะห์ปัญหาเมื่อรถสตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ติด ที่ให้ใช้มิเตอร์วัดโวลท์อย่างเดียวก็พอ ก็เพราะว่าผมได้วิเคราะห์ปัญหาด้วย oscilloscope มาแล้ว และสามารถเอาผลจากการตรวจวัด ออกมาในการวัดทางโวลเต็จกับเครื่องมือวัดแบบโวลท์มิเตอร์ ดังนี้
ในเครื่องยนต์ของรถมาสด้า Lantis-V6 เครื่อง 2000cc
เมื่อเครื่องยนต์ไม่สามารถที่จะสตาร์ทให้ติดได้ ให้ทำการตรวจเช็คตามขั้นตอนดังนี้
- ให้ทำการตรวจเช็คการทำงานของตัวจานจ่าย ว่ามีไฟสูงจ่ายให้กับหัวเทียนหรือไม่
- ขั้นแรกให้หาปลั๊กเสียบconnector 6 ขา ที่เสียบเข้ากับช่องเสียบที่ตัวจานจ่าย โดยให้สังเกตขาเสียบที่มีสายไฟสีเหลืองม่วง จะอยู่ขาเสียบแรกทางด้านซ้ายมือของปลั๊กตัวผู้ที่เสียบเข้าช่องเสียบที่ตัวจานจ่าย
- ให้หาเข็มหมุดแทงเข้าไปในสายไฟเส้นดังกล่าว แล้วให้นำมิเตอร์ตั้ง Range วัดโวลท์ ที่ไม่เกิน 20 volt ให้เอาสายวัดของมิเตอร์ที่เป็นสายสีดำ(สายลบ)หนีบกับกราวด์ตัวเครื่องยนต์หรือตัวถังรถ สายสีแดงของมิเตอร์ หนีบกับเข็มหมุดที่แทงเข้าไปในสายไฟเส้นสีเหลืองม่วง
- จากนั้นให้เปิดสวิสท์กุญแจรถไปที่ตำแหน่ง ON หากที่มิเตอร์วัดอ่านค่าโวลท์เต็จได้ 3 volt
แสดงว่า ทรานซิสเตอร์ ตัวที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณพัลส์เสีย หากวัดได้ต่ำกว่า 1 volt แสดงว่าไม่เสีย
- ให่บิดสวิชท์กุญแจมาตำแหน่ง Off
- ขั้นตอนต่อไปเป็นการเทสการทำงานของตัวจานจ่าย ว่ามีไฟสูงจ่ายให้กับหัวเทียนหรือไม่ ขั้นแรกให้ถอดฝาครอบจานจ่ายออก เมื่อเอาฝาครอบออกจะเห็นเดือยเสาที่เป็นแกนเสียบเข้าที่ฝาครอบเพื่อให้แท่งถ่านต่อกดหัวนกกระจอก ที่แท่งเดือยนี้ตรงปลายจะเป็นทองแดง ให้เราหาสายไฟที่มีหัวคีบสองด้าน ด้านหนึ่งหนีบเข้ากับปลายแท่งเดือนที่เป็นทองแดง และที่ปลายสายไฟที่มีหัวหนีโลหะ ให้นำมาวางใกล้ๆกับตัวถังรถ หรือที่ตัวเครื่องยนต์ห่างสักครึ่งเซ็นต์
- จากนั้นให้ทำการตัดสายไฟเส้นแรกที่เราวัดโวลท์ ออกจากกัน โดยเอาเส้นสายไฟที่มาเข้าหัวคอนเน็คเตอร์ ปอกสายฉนวนหุ้มให้เห็นเส้นลวดทองแดงข้างในของสาย จากนั้นให้หาสายไฟที่เป็นหัวหนีบที่ปลายทั้งสองแบบเส้นแรก โดยให้หัวหนีบข้างหนึ่งหนีบเข้ากับสายลวดทองแดงที่ปอกตอรี่ไว้ ส่วนหัวหนีบอีดปลายเอาไว้เขี่ยเข้ากับขั่วบวกของแบ็ตเตอรี่
- จากนั้นให้บิดสวิชท์กุญแจไปที่ตำแหน่ง ON อีกครั้ง ให้ตรวจสายไฟที่นำไปวางใกล้ๆกับกราวด์ ให้ห่างประมาณครึ่งเซ็นต์ตามที่บอกครั้งแรก
- จากนั้นให้นำสายไฟเส้นที่ต่อกับสายเส้นแรกที่ปอกให้เห็นลวดทองแดงแล้วหนีบไว้ สำหรับเขี่ยที่ขั่วบวกของแบ็ต
- จากนั้นให้ทดลองเอาสายไฟที่ว่านี้เขี่ยเข้ากับขั่วบวกของแบ็ตเตอรี่เป็นจังหวะ ช่วงที่เขี่ยกับขั่วบวกของแบ็ตนี้ ให้สังเกตว่ามีไฟสูงอาร์คลงกราวด์ของสายไฟที่ต่อเข้ากับแท่งเดือยในจานจ่ายหรือไม่หากเขี่ยแล้วมีไฟสูงอาร์คลงกราวด์ แสดงว่าวงจรช่วยจุดระเบิดที่ตัวจานจ่ายปกติ ที่ตัวจานจ่ายไม่เสีย
- ให้กลับไปต่อสายไฟเส้นแรกสีเหลืองม่วงที่ตัดออก ต่อกันโดยการใช้ตะกั่วบัดกรี
- จากการวัดโวลท์ที่สายไฟเส้นแรกเหลืองม่วง หากวัดได้ประมาณ 3 volt ให้ทำการเปลี่ยนทรานซิสเตอร์ T800 บนแผงปริ้นเมนบอร์ด
- หากวัดค่าโวลท์ได้ต่ำกว่าหนึ่งโวลท์ ให้ทำการถอดหัวคอนเน็คเตอร์ที่เป็นปลั๊กเสียบของสายไฟสัญญาณจากแคร้งชาร์ปเซ็นเซอร์ออกจากกัน
- จากนั้นให้ใช้มิเตอร์วัดค่าโอมห์ ของตัวแคร้งชาร์ปเซ็นเซอร์ ที่หัวปลั๊กด้านที่มีสายไฟต่อไปหาแคร้งชาร์ปเซ็นเซอร์ หากวัดโอมห์แล้วอ่านได้ประมาณ 560-700 Ohm ถือว่าปกติ แต่ถ้าหากวัดค่าโอมห์แล้ไม่ขึ้น แสดงว่าแคร้งชาร์ปเซ็นเซอร์เสีย ก็หาซื้อมือสองมาเปลี่ยนซะ ราคาสามสี่ร้อยบาท
นี้เป็นสเต็ปในการตรวจเช็ควงจรจุดระเบิดของรถยนต์มาสด้า Lantis-V6 เครื่อง2000cc
โดย: srithanon   วันที่: 26 Feb 2013 - 11:14

หน้าที่: 1   [2]

 ความคิดเห็นที่: 21 / 32 : 767089
โดย: srithanon
สำหรับรูปนี้ เป็นภายในของกล่อง ECU cronos-V6( ไม่แน่ใจ หากรถท่านใดที่เป็น Cronos-V6
มีรูปร่างแผ่นปริ้นบอร์ด ดังในภาพ หากเสียก็มีสำรองอะไหล่ไว้ให้ในการซ่อม
วันที่: 26 Feb 13 - 20:20

 ความคิดเห็นที่: 22 / 32 : 767090
โดย: srithanon
หากมีภาพอะไรเพิ่มเติมเป็นความรู้จะส่งมาให้ในโอกาสต่อไปครับ บังเอิญผมไม่ได้ถ่ายขั้นตอนการวัดสัญญาณต่างๆที่เกี่ยวไว้ เพราะรีบตรวจซ่อมครับ...........srithanon
วันที่: 26 Feb 13 - 20:24

 ความคิดเห็นที่: 23 / 32 : 767105
โดย: Yut13
มองไม่เห็นเบอร์ ลองเอาไปส่องกับหลอดตู้ปลา หรือ หลอดบนเพดานก็ได้ จริงๆแล้วเบอร์เทียบมีเยอะมาก
วันที่: 26 Feb 13 - 21:43

 ความคิดเห็นที่: 24 / 32 : 767113
โดย: ทวีรัฐ
ยาวมากครับท่าน srithanon

กลับมา เปิดคอมตั้งใจอ่านเต็มที่ พออ่านไปๆ เริ่มตาลาย และจิตนาการตามไปเรื่อย จนมันซ้อนตีกันนัวเนียอ่ะครับ
(ให้ ME มาเข้าใจ EE คงต้องใช้เวลานิดส์นุงครับ)

แต่ความรู้ ล้วนๆ
วันที่: 26 Feb 13 - 22:13

 ความคิดเห็นที่: 25 / 32 : 767143
โดย: srithanon
ขอบคุณมากครับคุณทวีรัฐ อยากจะให้เนื้อหามันสั้นๆ แต่มันจะไม่ได้เนื้อหาที่พยายามสื่อ จริงแล้วหากมีเวลาจะพยายามทำเป็นคลิป VDO พร้อมคำบรรยายตามภาพ แต่มันไม่พร้อมทั้งเวลาและขั้นตอนการตรวจซ่อม เพราะทำตามเวลาที่ว่างเท่านั้นครับ ต่อไปหากมีโอกาสได้แก้ปัญหาอื่นๆจะพยายามทำคลิปวิดีโอมานำเสนอความรู้ให้นะครับ ขอบคุณที่เข้ามาให้กำลังใจ ผมก็ใช้เวลาสนานมากในการพิมพ์เช่นกันครับ ...srithanon
วันที่: 26 Feb 13 - 23:05

 ความคิดเห็นที่: 26 / 32 : 767159
โดย: ทวีรัฐ
ก็น่าจะนานแน่ครับ ยาวซะขนาดนั้น
ผมเข้าใจครับ บางที ด้วยส่วนตัวการที่จะดธิบายอะไร ด้วยเกรงผู้อ่านไม่เข้าใจ เราก็พยายามจะขยายความให้ได้มากที่สุด
สุดท้าย กลับมาดูอีกที ยาวเหยียดเลย
วันที่: 26 Feb 13 - 23:59

 ความคิดเห็นที่: 27 / 32 : 767164
โดย: Fujiwara Takumi
อ่านจนมึน แล้วอ่ะครับ ขอบคุณมาก ๆ เลยครับท่าน srithanon สำหรับความรู้
วันที่: 27 Feb 13 - 00:09

 ความคิดเห็นที่: 28 / 32 : 767179
โดย: superdan
ขอบคุณครับ
วันที่: 27 Feb 13 - 08:31

 ความคิดเห็นที่: 29 / 32 : 767345
โดย: diNk Un LoCk

ขอบคุณครับ
วันที่: 27 Feb 13 - 21:57

 ความคิดเห็นที่: 30 / 32 : 767347
โดย: p_protege
ของเครื่อง FS ก็เคยเสียที่ตัวนี้เช่นกันครับ
วันที่: 27 Feb 13 - 21:59

 ความคิดเห็นที่: 31 / 32 : 767362
โดย: บอมบ์
กล่องใครเสียคล้ายแบบนี้ เล็งเจ้า Transistor ตัวนี้ก่อนเลย
วันที่: 27 Feb 13 - 22:40

 ความคิดเห็นที่: 32 / 32 : 767412
โดย: srithanon
สำหรับเพื่อนๆและน้องๆสมาชิก ที่สนในเรื่องการวิเคราะห์การทำงานของวงจรจุดระเบิด ด้วย digital oscilloscope ตั้งแต่แรกของระบบ ซึ่งผมได้เคยตั้งกระทู้ไว้ที่ มาสด้าคลับแห่งนี้นานมาแล้ว แต่หากสนใจอยากรู้ ก็สามารถที่จะเข้าไปใน google พิมพ์คำว่า วิธีซ่อมแก้ไขวงจรจุดระเบิด ก็สามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาได้ รวมทั้งของกระทู้นี้ด้วย รู้สึกว่า google เขาทำลิ้งค์ เอาข้อมูลจากชมรม Mazdaclub.net ไปครับ ลองเข้าไปติดตามอ่านดู มีประโยชน์ สำหรับท่านที่ใช้ mazda Lantis-V6 โดยเฉพาะ .................srithanon
วันที่: 28 Feb 13 - 08:37

หน้าที่: 1   [2]