Close this window

พืชมงคล
วันที่ 11 พฤษภาคม
ความเป็นมาของวันสำคัญ
หนังสือพระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรง อธิบายถึงพิธีแรกนาขวัญไว้ดังนี้
"การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณเช่นในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงไหม ส่วนจดหมาย เรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่ง ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นใน การที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง"
วันพืชมงคลนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสไว้ว่า เป็นพระราชพิธีที่มี 2 ชื่อ ต่อเนื่องกันเป็นพิธีเดียวคือ วันสวดมนต์ทำขวัญพืชพันธุ์ต่างๆ มีข้าวเปลือก เป็นต้น เป็นวัน พระราชพิธีพืชมงคล ส่วนพิธีตอนเช้าคือการไถ เป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนนี้พระราชพิธีจรดพระ นังคัลมีแต่พิธีพราหมณ์ไม่มีพิธีสงฆ์ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ และ ได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่แยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่า พืชมงคล
พระราชพิธีจรดพระนังคัลมีกล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนางนพมาศระบุว่ามีามตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
พระราชพิธีจรดพระนังคัลที่มีในปัจจุบันนี้ก็ดำเนินตามแบบอย่างโบราณประเพณี เว้นแต่บางอย่างบาง ประการได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมแก่กาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตร และนางเทพีคู่หาบทั้งสี่ก็เป็นสุภาพสตรี ผู้ทรงเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรพระราชพิธีพืชมงคลทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชนได้มาชมการแรกนา นี้เป็นจำนวนมาก เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวนำไปผสมกับพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูก ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่นา หรือผู้ที่ไม่มีนาก็นำไปเก็บไว้ในถุงเงินด้วยความเชื่อที่ว่าทำให้เงินทองงอกเงย
เรื่องพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลในรัชกาลที่ 4 ก็ได้กล่าวถึงเรื่องการแย่งข้าวด้วยเหมือนกันดังนี้ "ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาที่คนมาประชุมกันมาก ถึงจะอยู่บ้านไกลๆ ก็มันจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการ เมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยาแรกนากลับแล้วก็พากันแย่งเก็บข้าวจนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อ ทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพันธุ์ข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตำรวจหลายคนออกไปค้น หาเมล็ดข้าว ว่าเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้จนสักเมล็ดหนึ่งพันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้นไปใช้เจอในพันธุ์ข้าวปลูก ของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของ คนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก"
พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลในปัจจุบันนี้ เป็น พระราชพิธีเก่าแก่มาแต่โบราณ เป็นพระราชพิธี เสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติที่ว่ากันว่า เป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทยโดยแท้ โดยกำหนด เอาวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นวันพืชมงคลของทุกปี


กิจกรรมที่ควรปฏิบัติเนื่องในวันพืชมงคล
ประดับธงชาติที่อาคารบ้านเรือน

ข้อมูลจาก : หนังสือ "วันสำคัญของไทย" โดย สุภักดิ์ อนุกูล
โดย: 22   วันที่: 9 May 2007 - 08:12