Close this window

โครงการ อาสาสมัคร : อาสาสมัครเต็มเวลา 2 ปี
มอส.รับสมัคร อาสาสมัครรุ่นที่ 28
.

โครงการ อาสาสมัคร : อาสาสมัครเต็มเวลา 2 ปี
งานอาสาสมัครเต็มเวลา : งานท้าทายสำหรับคนหนุ่มสาว
งานอาสาสมัครเต็มเวลา เป็นงานที่ มอส.ดำเนินงานร่วมกับองค์กรที่รับอาสาสมัครโดยมีเป้าหมายดังนี้
- เพื่อเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อผู้ด้อยโอกาส ได้มีบทบาทในการพัฒนาสังคมไทย
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดนักพัฒนารุ่นใหม่ๆ ที่มีทั้งแรงศรัทธาในการทำงานเพื่อสังคม และมีความสามารถในการทำงานพัฒนา
- ส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาสังคมที่ทำงานกับผู้ด้อยโอกาส และมีศักยภาพในการสร้างการเรียนรู้ให้กับคนหนุ่มสาวให้เกิดความตระหนัก และเข้าใจผู้ด้อยโอกาส อีกทั้งสามารถกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวคิดค้นหาหนทางเพื่อช่วยเหลือ

ลักษณะงานของอาสาสมัคร
ลักษณะงานที่อาสาสมัครได้รับมอบหมายจะต้องเป็นงานที่ใช้เวลาส่วนใหญ่(อย่างน้อย ๗๐% ของเวลาทำงานทั้งหมด) ในการสัมผัสกับสภาพชีวิตและปัญหาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และต่อการพัฒนาตัวอาสาสมัครเองในด้านประสบการณ์ ความสามารถ และจิตใจที่เสียสละในการทำงานเพื่อส่วนรวม ซึ่งในการทำงานดังกล่าวอาสาสมัครจะต้องได้รับโอกาสที่จะใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความสามารถของตนให้เป็นประโยชน์ตามควร

งานของอาสาสมัครจะมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับโครงการที่อาสาสมัครไปปฏิบัติงาน อาสาสมัครบางคนอาจอยู่ประจำในหมู่บ้านชนบทหรือชุมชนสลัมในเมืองใหญ่ บางคนอาจทำงานในลักษณะการประสานงาน จัดฝึกอบรมให้กับผู้นำในท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น พระ ครู หรือกรรมการชุมชน บางคนอาจทำหน้าที่เป็นเหมือนนักจิตวิทยาเด็ก ให้กับกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางสภาพจิตใจ เช่น การทำศิลปะบำบัด บางคนอาจทำงานด้านการรณรงค์เผยแพร่จัดทำสื่อ เขียนข่าว เขียนบทความ ประสานกับสื่อ นักวิชาการ จัดเวทีให้ความรู้กับชุมชน หรือสังคมวงกว้างเพื่อเผยแพร่ปัญหา บางคนอาจทำงานเหมือนหมอเหมือนพยาบาลที่ไปสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนในเรื่องเกี่ยวกับเอดส์(HIV) และบางคนอาจทำงานด้านการศึกษา ฯลฯ

โดยสรุปประเภทงานที่อาสาสมัครลงไปปฏิบัติงานทั้งในชนบทและในเมือง จำแนกได้ดังนี้
>> งานด้านการบริการเทคโนโลยีที่เหมาะสม
>> งานด้านการจัดการทรัพยกรโดยชุมชน
>> งานพัฒนาเด็กและเยาวชน
>> งานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน
>> งานส่งเสริมสิทธิเกษตรกรและกรรมกร
>> งานจัดอบรมและบริการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน
>> งานข้อมูลวิชาการ
>> งานเผยแพร่ รณรงค์ ให้ความรู้กับสังคม
>> งานจัดการด้านองค์กรชาวบ้าน เช่น การรวมกลุ่ม กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ
>> งานด้านการศึกษา

วาระการปฏิบัติงานและค่าตอบแทน
อาสาสมัคร มีวาระในการทำงาน ๒ ปีเต็ม ซึ่ง มอส. และ องค์กรที่รับอาสาสมัครไปปฏิบัติงานจะร่วมกันแบ่งจ่ายค่าตอบแทนรายเดือน ค่าตอบแทน ปีแรก ๖,๓๐๐ บาท และปีที่ ๒ ค่าตอบแทน ๖,๖๐๐ บาท นอกจากนี้อาสาสมัครยังได้รับสวัสดิการจากมอส. ในด้านการรักษาพยาบาล การประกันชีวิตและอุบัติเหตุ รวมทั้งมีเงิน สมทบให้เมื่อสิ้นสุดวาระการทำงานโดยละสมให้เดือนละ ๖๐๐ บาท (หากมีการลาออกก่อน 1 ปีจะไม่ได้รับเงินสมทบ)

ในช่วงของการทำงานองค์กรที่รับอาสาสมัครจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเสริมสร้างทักษะในการทำงาน และเป็นพี่เลี้ยง ให้แก่อาสาสมัครโดยตรง ส่วน มอส. ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการสรุปบทเรียน การเสริมความเข้าใจและทักษะการคิดวิเคราะห์สังคม และการเสริมสร้างหลักคิด กำลังใจเพื่อ ฝึกฝนตนเองให้มีความหนักแน่นในการทำงานเพื่อสังคม โดยการจัดฝึกอบรม สัมมนา ตลอดจนการติดตามการทำงานของอาสาสมัคร และในการช่วยอาสาสมัครแก้ไขปัญหาต่าง
กระบวนการทำงานของ มอส.
๑. เปิดรับโครงการพัฒนาสังคมที่ประสงค์จะขอรับอาสาสมัคร จาก มอส. ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และจะพิจารณาตอบรับการส่งอาสาสมัครให้แล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนมีนาคม ในช่วงระหว่างการเปิดรับโครงการ หรือเมื่อพิจารณาองค์กรที่จะส่งอาสาสมัครไปทำงานแล้ว มอส.จะประสานแลกเปลี่ยนเป็นรายองค์กร และ จัดประชุมร่วมกับองค์กรที่รับอาสาสมัครทั้งหมด เพื่อสร้างความเข้าใจ ในการเป้าหมายของงานอาสาสมัคร และ วางแผนร่วมมือกันในการเสริมสร้างอาสาสมัคร
๒. เปิดรับอาสาสมัครทุกปีตั้งแต่เดือนมกราคม ? มีนาคม โดยการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ อีกทั้งในสถาบันการศึกษา มอส.จะดำเนินการคัดเลือกอาสาสมัครในช่วงเดือนเมษายน อาสาสมัครใหม่จะเริ่มปฏิบัติงานเป็นอาสาสมัคร ในวันที่ ๑ พฤษภาคม
๓. จัดกระบวนการฝึกอบรม-สัมมนา ก่อนออกปฏิบัติงาน ระหว่างการปฏิบัติงาน และสิ้นสุดวาระการทำงานซึ่งอาสาสมัครจะต้องเขียนรายงานสรุปบทเรียนนำเสนอในเวทีสัมมนาด้วย
๔. ติดตาม ประเมินผลการทำงานของอาสาสมัครและแลกเปลี่ยนกับองค์กร ในช่วงระหว่างการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร และสิ้นสุดวาระการทำงานกระบวนการคัดเลือกอาสาสมัคร
มอส.จะดำเนินการรับสมัคร อาสาสมัครปีละ 1 รุ่น ประมาณ 15 -20 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้

คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นอาสาสมัคร
๑. รักการเรียนรู้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจและพร้อมที่จะทำงานกับผู้ด้อยโอกาสในฐานะอาสาสมัครของโครงการพัฒนาสังคม
๒. มีความมั่นใจที่จะทำงานเป็นอาสาสมัครครบวาระ ๒ ปีเต็ม
๓. ไม่มีพันธะทางการศึกษา หรือพันธะอื่นใดที่จะทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่
๔. มีอายุระหว่าง ๒๐-๓๐ ปี
๕. จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไป
๖. มีทัศนคติที่ดีต่องานและการพัฒนาสังคม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อดทนและพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงาน
๗. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี
๘. มีสภาพทางร่างกายและจิตใจเหมาะสมกับการทำงานเป็นอาสาสมัคร
นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว หน่วยงานที่จะรับอาสาสมัครจาก มอส. อาจกำหนดคุณสมบัติ
เพิ่มเติมที่จำเป็นสำหรับงานที่จะให้อาสาสมัครทำ เช่น คุณสมบัติทางด้านความรู้หรือประสบการณ์พิเศษ แต่โดยทั่วไป มอส. จะไม่ยินยอมให้มีการระบุเพศของอาสาสมัคร

วิธีการสมัคร
- ผู้สมัครเขียนเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตและความคิด ผ่านเรียงความ ?ชีวิตและสังคมในอุดมคติของข้าพเจ้า?
- เขียนประวัติส่วนตัว และประวัติการทำกิจกรรมทางสังคม(อย่างย่อ) พร้อมที่อยู่ที่สามารถติดต่อกลับได้
- หลักฐานทางการศึกษา, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรูปถ่าย ๒ ใบ, สำเนาใบผ่านการเกณฑ์ทหาร(เฉพาะชาย)
ผู้สมัครเขียนส่งมาได้ตั้งแต่เดือนมกราคม ? ๑๐ มีนาคม

ระบบการคัดเลือก
การคัดเลือกอาสาสมัครเป็นกระบวนการคัดเลือกร่วมกันระหว่าง มอส. และโครงการพัฒนาสังคมที่ขอรับอาสาสมัคร แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนแรก เป็นการคัดเลือกโดย มอส. ซึ่งจะเป็นการคัดเลือกผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และมีความเหมาะสมที่จะเป็นอาสาสมัครตามคุณสมบัติที่ มอส. กำหนดไว้ในประกาศ โดยพิจารณาจากเอกสารที่ผู้สมัครส่งมา ซึ่งมีเรียงความ ประวัติส่วนตัว และหลักฐานต่างๆ
ขั้นตอนที่สอง ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนแรก จะต้องมาเขียนใบสมัครที่ มอส. ซึ่ง เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากขั้นตอนแรก ผู้สมัครสามารถใช้เวลาเขียนใบสมัครได้ตลอดทั้งวัน โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. จนถึง ๑๗.๐๐ น (ในขั้นตอนที่สองและสาม มอส. จะเชิญนักพัฒนาอาวุโส/อดีตอาสาสมัคร เข้าร่วมเป็นกรรมการกลางเพื่อร่วมพิจารณาคุณสมบัติของอาสาสมัครด้วย)
ขั้นตอนที่สาม ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกขั้นตอนที่สองแล้ว จะต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อฟังการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ โดยจะมีผู้แทนจากโครงการพัฒนาสังคมต่างๆ ที่ มอส. ได้พิจารณาส่งอาสาสมัครในปีนั้นๆ มาอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ บทบาทหน้าที่ของอาสาสมัคร ฯลฯ เพื่อให้ผู้สมัครสอบถามรายละเอียดให้มากที่สุด แล้วพิจารณาเลือกโครงการที่สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพและความต้องการของตัวอาสาสมัครเอง ๒ โครงการ ตามลำดับความสนใจ จากนั้นผู้สมัครจะเข้ารับการสัมภาษณ์ทั้งสองโครงการ โดยมีผู้แทนของโครงการ มอส. และกรรมการกลาง เป็นคณะกรรมการร่วมสัมภาษณ์ผู้สมัครในแต่ละโครงการจนแล้วเสร็จ

ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกมาจนถึงขั้นตอนสุดท้าย แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นอาสาสมัครจะได้เป็นอาสาสมัครสำรอง และมีสิทธิเข้ารับการสัมภาษณ์รอบสอง กับโครงการฯ ที่ไม่ได้อาสาสมัครและต้องการเปิดสัมภาษณ์อาสาสมัครเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีสิทธิได้รับการเป็นอาสาสมัครหากในระหว่างปีมีอาสาสมัครลาออก(ในโครงการที่เลือกไว้) หรือมีหน่วยงาน, โครงการใดต้องการเจ้าหน้าที่ มอส.จะแจ้งให้ทราบ โดยจะเป็นองค์กรผ่านให้กับโครงการนั้นๆ กับผู้สมัคร และ มอส. จะส่งข่าวแจ้งให้กับผู้สมัครทราบเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ในโครงการพัฒนาสังคมต่างๆ ทั่วประเทศเป็นระยะ

กระบวนการฝึกอบรม ? สัมมนาอาสาสมัคร
การจัดฝึกอบรม-สัมมนา อาสาสมัคร เป็นกระบวนการที่ มอส. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ การพัฒนาความสามารถในการทำงาน และการพัฒนาตนเองของอาสาสมัคร โดยทั่วไปแล้ว ในช่วงวาระการเป็นอาสาสมัคร ๒ ปี มอส. จัดปฐมนิเทศก่อนออกปฏิบัติงานอีก ๑ ครั้ง และจัดฝึกอบรมสัมมนาให้กับอาสาสมัคร ๕ ครั้ง

การเขียนรายงานการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร
ในระหว่างที่ปฏิบัติงานเป็นอาสาสมัคร อาสาสมัครจะต้องเสนอรายงานต่อ มอส. โดยมีเนื้อหาเน้นหนักเกี่ยวกับการดำเนินงานของตน พัฒนาการของตัวอาสาสมัครเอง และปัญหาต่างๆ ในการทำงาน การเขียนรายงานของอาสาสมัคร จะแบ่งเป็น ๒ ประเภทตามช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน คือ
๑. รายงานประจำ ๓ เดือน อาสาสมัครจะต้องเขียน รายงานสรุปสภาพการทำงานทุก ๓ เดือนให้กับองค์กร และส่งมาที่ มอส. ด้วย ซึ่งถือว่า เป็นส่วนหนึ่งในการติดตามความเคลื่อนไหว และการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร
๒. รายงานสรุปบทเรียนการทำงาน ครบวาระ ๒ ปี อาสาสมัครจะต้องเสนอรายงานการศึกษา บทความ หรือบทวิเคราะห์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องโดยตรง หรือโดยอ้อมกับประสบการณ์ของตนเองในช่วงที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ มอส. คณะกรรมการ มอส. ผู้แทนโครงการฯที่รับผิดชอบอาสาสมัคร หรือผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ที่ มอส. เห็นสมควรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการเขียนรายงาน รายงานนี้จะต้องเขียนให้เสร็จเมื่อปฏิบัติงานครบ ๑ ปีครึ่ง จะต้องนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมสัมมนาอาสาสมัคร โดย มอส. จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับรายงานนั้นๆ มาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง อันจะเป็นประโยชน์ต่ออาสาสมัครต่อโครงการพัฒนาสังคมที่สังกัด และต่อวงการพัฒนาในโอกาสต่อไป
อนึ่ง อาสาสมัครจะต้องแก้ไขบทรายงานของตนให้สมบูรณ์ก่อนที่จะสิ้นสุดวาระการเป็นอาสาสมัคร ๒ ปี
การติดตามผลการทำงานของอาสาสมัครอาสาสมัคร มอส. อยู่ในการดูแลโดยตรงกับโครงการพัฒนาที่รับอาสาสมัครจาก มอส. ดังนั้น การฝึกฝนอาสาสมัครในด้านการทำงาน และการช่วยอาสาสมัครแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของโครงการพัฒนาที่เป็นเจ้าของโครงการที่อาสาสมัครสังกัด อย่างไรก็ตาม มอส. จะเน้นบทบาทส่งเสริมให้โครงการที่รับอาสาสมัคร และตัวอาสาสมัครได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเต็มที่ นอกจากนั้น มอส. ยังมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผลการทำงานของอาสาสมัคร โดยขอให้อาสาสมัครทำรายงานประจำเดือนสั้นๆ ส่งถึง มอส. และหน่วยงานที่อาสาสมัครสังคม รวมทั้ง มอส. จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเยี่ยมอาสาสมัคร ณ ที่ทำงานของอาสาสมัครเป็นครั้งคราว

มอส. จะขอมีส่วนร่วมในการหาทางแก้ไขปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นระหว่างอาสาสมัครกับโครงการพัฒนาที่รับอาสาสมัคร หรือในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีปัญหา และต้องการการปรึกษาหารือกับ มอส. โดยจะ พยายามให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
การประเมินผลการปฏิบัติงานของอาสาสมัคร จะประเมินจากการติดตามพัฒนาการของอาสาสมัคร ทั้งจากการออกเยี่ยมในพื้นที่ จากการฝึกอบรม-สัมมนา และจากการแลกเปลี่ยนปรึกษาหารือกับอาสาสมัครและโครงการที่รับอาสาสมัคร
โดย: 22   วันที่: 28 Feb 2007 - 10:52