Close this window

ภัยใกล้ตัวกับกระจกไฟฟ้า
ปัจจุบัน เทคโนโลยี กับ ความสะดวกสบาย ดูเหมือนจะกลายเป็นของคู่กัน ในสายตาของผู้บริโภคทั่วไปเสียแล้ว กล่าวคือ ยิ่งเทคโนโลยีล้ำหน้ามากขึ้นเท่าไหร่ สินค้าที่ผลิตออกมา ก็ยิ่งมีฟังก์ชัน ที่สามารถอำนวยความสะดวก เพิ่มขึ้นได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะสินค้า ที่อยู่ในตลาด ที่มีการแข่งขันกัน อย่างดุเดือดอย่างรถยนต์ ที่ไม่มีใครยอมเสียเปรียบใคร อย่างแน่นอน มีเทคโนโลยีหนึ่ง ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ มากที่สุดนั้น คือกระจกไฟฟ้า


โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่กว่า 80% ติดตั้งกระจกระบบอัตโนมัติ ออกมาจากโรงงานโดยตรง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระจกไฟฟ้าจะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารก็ตาม แต่ก็มีเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น ที่ตระหนักถึงภัยอันตรายที่แฝงมากับความสะดวกสบายดังกล่าว

โดยเหตุการณ์ล่าสุดได้เกิดขึ้นกับ ซอย เกทส์ เด็กหญิงชาวอเมริกันอายุเพียง 2 ขวบ ที่ต้องเสียชีวิตจากการหนีบของกระจกไฟฟ้าด้วยแรงกว่า 80 ปอนด์ ขณะที่ยื่นลำตัวออกมานอกรถกระบะ เพื่อเล่นกับสุนัขของเธอ แม้เธอมีพ่อแม่คอยดูความเรียบร้อยอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากการปิดอัตโนมัติของกระจกด้วยความโชคร้ายที่บังเอิญหัวเข่าของเธอไปกดโดนปุ่มควบคุม

"เราหันไปดูอยู่หลายครั้ง ตอนปล่อยให้เธอนั่งอยู่ในรถตามลำพัง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้น แต่พอเราหันกลับมาอีกครั้ง โดยมีระยะเวลาห่างกันไม่กี่นาที ก็ต้องเห็นภาพที่แทบจะทำให้หัวใจสลาย ร่างที่ไม่ไหวติงของซอย ถูกหนีบคาอยู่ที่กระจก" นางบริท เกทส์ ผู้เป็นแม่กล่าวด้วยน้ำตา

นางเกทส์ กล่าวต่อว่า ระยะเวลาที่ซอยถูกหนีบ ไม่น่าจะใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เธอเสียชีวิต แต่น่าจะเป็นเพราะแรงหนีบมากกว่า ที่เป็นเหมือนฆาตกรเงียบ ซึ่งไม่ว่าใครโดน ก็ไม่สามารถที่จะร้องขอความช่วยเหลือได้

ด้านนายเดวิด หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ข้อมูล แผนกทดสอบรถยนต์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดกับกระจกไฟฟ้าส่วนใหญ่ เป็นเพราะการเปิดปิดนั้นถูกควบคุมโดยปุ่ม ที่มักจะถูกกดโดยไม่ได้ตั้งใจ

"รถยนต์ส่วนใหญ่ มักจะตั้งปุ่มเปิด-ปิด ไว้บริเวณที่พักแขนที่แผงประตู ซึ่งเด็กส่วนใหญ่มักชอบที่จะปีนป่าย ทำให้ขาไปกดโดนปุ่มโดยบังเอิญ" นายแชมป์เปี้ยน กล่าว

ซึ่งเมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ได้ยินเข้า ก็ออกมาตอบโต้ทันทีว่า กระจกไฟฟ้าจะทำงานก็ต่อเมื่อมีการเปิดสวิตช์กุญแจเท่านั้น หากรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้เสียบกุญแจไว้เพื่อต้องการฟังเพลง หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นได้ เพราะไม่ว่าอะไรจะไปโดน ปุ่มเปิด-ปิดก็จะไม่ทำงาน

รูปแบบการทำงานของกระจกรถยนต์ในปัจจุบัน มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบมือหมุน, กระจกไฟฟ้า กระจกไฟฟ้าแบบวัน ทัช, ระบบแจมโปรเทคชั่น หรือ กระจกที่มีระบบเซ็นเซอร์ เปิด-ปิด เอง กรณีที่มีสิ่งกีดขวาง


ปัจจุบัน เกทส์ ก็ยังคงเดินหน้า ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ผลิตปุ่มควบคุมการทำงานของกระจกไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเก่า รวมถึงยังเข้าร่วมโครงการ คิดส์ แอนด์ คาร์ (Kids and Cars) กับสหพันธรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของกระจกไฟฟ้ารถยนต์อีกด้วย

ทั้งนี้ จากการรวบรวมสถิติส่วนหนึ่งพบว่า ตั้งแต่ปี 2536 มีเด็กที่ต้องเสียชีวิตจากการถูกกระจกไฟฟ้าหนีบ 23 ราย อย่างไรก็ตาม ทางด้านจีเอ็ม, ฟอร์ด และ เดมเลอร์ ไครสเลอร์ ได้ออกมาแถลงต่อสาธารณชนว่า รถยนต์ของตนมีการออกแบบระบบการทำงานของกระจกที่มีความปลอดภัยเพียงพอ อาทิ ปุ่มล็อกกระจกที่อยู่ด้านข้างคนขับ ซึ่งสามารถสั่งไม่ให้กระจกไฟฟ้าคู่หลังทำงาน กรณีที่มีเด็กนั่งอยู่เบาะหลัง

นอกจากนี้ ตัวแทนจากจีเอ็ม ยังได้กล่าวว่า จะทำการติดตั้งปุ่มควบคุมการทำงานของกระจกไฟฟ้ารูปแบบยุโรป ให้กับ เชฟโรเลต มาลิบูน โมเดล 2004

ส่วนเดมเลอร์ ไครสเลอร์ ก็ไม่น้อยหน้า ส่งนาง แอน สมิธ ตัวแทนของบริษัทออกมาแถลงถึงแผนการของตนว่า กำลังพิจารณาว่าควรจะนำปุ่มควบคุมการเปิด-ปิด มาติดตั้งบริเวณคอนโซนกลาง บริเวณที่เด็กเอื้อมไม่ถึงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับความปลอดภัยหน้าที่ความรับผิดชอบต่อชีวิต ยังคงอยู่ที่ตัวเราเป็นหลัก หากไม่ประมาท หรือ รักความสบายจนเกินไป ความสูญเสียจะไม่ตามมาและให้แน่นอนจากปัญหานี้ หันมาใช้รถที่ เป็นกระจกธรรมดา เพื่อลดโอกาสสูญเสียก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง
โดย: HATA   วันที่: 26 Jun 2005 - 23:41