Close this window

เปลี่ยนเครื่องยนต์กับหลายแง่มุมที่น่าสนใจ
ไม่ว่าจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ด้วยเหตุผลใด เช่น ซ่อมเครื่องยนต์เดิมไม่คุ้ม อยากแรง อยากประหยัด พังมากเกินจะซ่อม ฯลฯ
ไม่ใช่เรื่องง่ายแค่เลือกเครื่องยนต์และจ่ายเงินเท่านั้น ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ
‘‘ ทำไมต้องเครื่องยนต์เก่า-เชียงกง
‘‘ เครื่องยนต์ใหม่ไม่มีเหรอ
เชียงกง ชื่อเรียกตลาดค้าเครื่องยนต์และอะไหล่เก่าที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกัน เป็นแหล่งขายเครื่องยนต์ใช้แล้วสารพัดรุ่นหลากยี่ห้อหลายระดับความแรง มีให้เลือกมากจนจุใจ และได้รับความนิยมจากผู้ใช้รถยนต์ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องยนต์
ของเก่า หรือของใช้แล้ว ก็เป็นไปตามชื่อ คือ ผ่านการใช้งานมาแล้ว บางคนจึงเกิดความสงสัยปนหวาดกลัวว่า เครื่องยนต์ใช้แล้ว อาจจะมีสภาพไม่ดีหรือไม่สมบูรณ์ เพราะผ่านการใช้งานมาหลายหมื่นหรือนับแสนกิโลเมตรแล้ว อีกทั้งยังถูกถอดและขนข้ามน้ำข้ามทะเลมา ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาหรือทำงานได้ไม่สมบูรณ์ โดยไม่ได้วิเคราะห์ลึกๆ ว่า โอกาสที่จะเกิดปัญหามีมากกี่เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นปัญหาใหญ่แค่ไหน จึงเกิดความคิดว่า...ทำไมไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เอี่ยม ที่ยังไม่เคยผ่านการใช้งานมาเลย จะได้ไม่ต้องลุ้นกับการเกิดปัญหา
คำตอบ คือ เครื่องยนต์ใหม่ทั้งแบบตรงรุ่นกับรถยนต์ที่มีจำหน่ายในไทย หรือไม่ตรงรุ่น ต้องสั่งจากต่างประเทศเข้ามา ถ้ามีเงินพอก็สามารถสั่งซื้อได้จากผู้แทนจำหน่ายโดยตรง แต่ราคาจะแพงมากจนน่าตกใจ เครื่องยนต์พร้อมอุปกรณ์ครบชุด มักมีราคาเกิน 100,000 บาท และสำหรับเครื่องยนต์รุ่นที่มีพลังแรงหรือไฮเทค ต้องสั่งจากต่างประเทศเข้ามา ก็อาจจะมีราคาเกิน 200,000 บาท หรือเกิน 300,000 บาท ทั้งที่เครื่องยนต์เก่าในเชียงกง มีราคาแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องยนต์ใหม่เอี่ยมหรือไม่กี่หมื่นบาท แต่มีอายุการใช้งานเหลืออยู่เกิน 70-80 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ของราคาและอายุการใช้งานที่เหลืออยู่ ระหว่างเครื่อง ยนต์ใหม่เอี่ยมกับเครื่องยนต์เชียงกง เมื่อทราบ ราคาอันสูงลิ่วของเครื่องยนต์ใหม่ ทุกคนก็ล้วน หันมาหาซื้อเครื่องยนต์เชียงกงสภาพดีๆ และเข้า ใจกันโดยไม่ต้องอธิบายเยิ่นเย้อว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ในความเป็นจริงก็คือเครื่อง ยนต์เก่าหรือใช้แล้วจากเชียงกงนั่นเอง ไม่มีใครใช้เครื่องยนต์ใหม่เอี่ยมให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
‘‘ ซ่อมเครื่องยนต์เดิม & เปลี่ยนใหม่
ในกรณีที่เครื่องยนต์ที่ใช้อยู่หมดอายุ และเจ้าของไม่ได้ต้องการความแรงเพิ่มขึ้น จะไม่มีบทสรุปตายตัวว่า ควรซ่อมเครื่องยนต์เดิมหรือเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ หากยังไม่ได้มีการตรวจสอบสภาพภายในของเครื่องยนต์เดิม ประเมินราคาอะไหล่พร้อมค่าแรงในการซ่อม และสอบถามราคาเครื่องยนต์ที่ต้องการในเชียงกง เพื่อนำมาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายใน 2 ทางเลือกกับความคุ้มค่า
ถ้าเครื่องยนต์เดิมมีราคาอะไหล่ไม่แพง หรือต้องเปลี่ยนแค่ไม่กี่ชิ้น ก็มีแนวโน้มว่าการซ่อมจะคุ้มค่ากว่า แต่ถ้าต้องเปลี่ยนหลายชิ้นหรืออะไหล่มีราคาแพง แล้วเครื่องยนต์บล็อกนั้นมีขายในเชียงกงราคาไม่แพงและมีสภาพดีๆ ให้เลือกมาก ก็มีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนจะคุ้มค่ากว่า
‘‘ ราคาตก
เกือบทุกกรณีของรถยนต์ที่เปลี่ยนเครื่อง ยนต์ ทั้งเปลี่ยนเป็นบล็อกเดิมเพราะไม่อยาก ซ่อม หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์พลังแรง เพราะต้องการสมรรถนะที่ดีขึ้น เมื่อมีการขายต่อ สมุดทะเบียนที่ออกโดยกรมขนส่งทางบก จะมีการระบุไว้ชัดเจนหลังมีการแจ้งเปลี่ยนเครื่องยนต์ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น ราคาขายต่อมีแนวโน้มว่าจะลดลงบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องยนต์เดิมจากโรงงานผลิต แม้แต่ในกรณีที่เปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฮเทคพลังแรงกว่าเดิมก็ตาม ตลาดการค้ารถยนต์มือสองของไทย ยังให้ราคารถยนต์ที่มีอุปกรณ์มาตรฐานเดิมๆ มากที่สุดอยู่เสมอ
กรณีที่ราคาตก หรือการขายต่อยากขึ้นของรถยนต์ที่ถูกเปลี่ยนเครื่องยนต์ มักถูกมองข้าม แต่จะกลายเป็นบทเรียนที่ต้องเสียเงินเมื่อขายต่อนั่นเอง
‘‘ เปลี่ยนเพราะอยากแรง
หากต้องการเพิ่มความแรง การปรับแต่งเครื่องยนต์เดิม สามารถทำได้ แต่มีแนวโน้มว่าจะไม่คุ้มค่าเงิน โดยเฉพาะในรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีเครื่องยนต์ไฮเทคพลังแรงราคาไม่แพงให้เลือกอยู่เกลื่อนเชียงกง แต่ก็อย่าลืมว่าตอนขายต่อจะขายได้ยากหรือมีราคาตก
ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเก็บรักษาเครื่อง ยนต์พร้อมอุปกรณ์เดิมไว้สำหรับเปลี่ยนกลับเมื่อต้องขายต่อ (ถ้าทำได้และเครื่องยนต์เดิมมีสภาพดี) เพราะมีโอกาสที่ค่าแรงในการสลับกลับน่าจะถูกกว่าราคาขายต่อที่ได้เพิ่มขึ้นมา
กรณีนี้ต้องวิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อแรงสมใจแล้ว ตอนขายต่อควรจะขายพร้อมเครื่องยนต์ใหม่หรือสลับเครื่องยนต์เดิมกลับ คืน
‘‘ เปลี่ยนเพื่อประหยัดน้ำมัน อาจไม่คุ้ม
ราคาน้ำมันในปัจจุบันที่แพงในระดับ 14-16 บาทต่อลิตร ทำให้หลายคนที่ใช้รถยนต์รุ่นเก่า ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่โลว์เทคฯ กินน้ำมันมากแต่เรี่ยวแรงน้อย หันมาสนใจอยากเปลี่ยนเครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆ ไฮเทคลงไปแทน เพราะได้ทั้งความแรงและความประหยัดน้ำมันควบคู่กัน โดยไม่ดูรายละเอียดด้านอื่นที่มีผลต่อความ คุ้มค่า
จริงอยู่ที่เครื่องยนต์รุ่นใหม่ มักแรงขึ้นแต่ กินน้ำมันน้อยลง หรือแรงพอๆ เดิมแต่กินน้ำ มันน้อยลง หรือแรงกว่าเดิมแต่กินน้ำมันพอกัน มีกำลังแรงคุ้มค่าน้ำมันในแต่ละหยดมากขึ้นนั่นเอง
แต่ก็อย่ามองข้ามเรื่องเงิน คือ ค่าน้ำมันต้องจ่ายบ่อยก็จริง แต่ก็จ่ายครั้งละนิด ทยอยจ่าย ส่วนค่าเปลี่ยนเครื่องยนต์นั้นเป็นเงินหลาย หมื่นบาท จ่ายแบบผ่อนส่งไม่ได้ และต้องคิดต่อเนื่องไปเมื่อขายรถยนต์ออกไปว่าราคาต้องตก ได้เงินน้อยลงอีกหลายหมื่นบาท ต้องเสียเงิน 2 ครั้งรวมกันแล้วไม่น้อย ยิ่งถ้าเป็นการเปลี่ยนเครื่องยนต์ข้ามรุ่นข้ามยี่ห้อ ก็ยิ่งราคาตกลงอีก
ความประหยัดน้ำมันที่ได้มา ก็มักจะประหยัดกว่าเดิมไม่มาก หรือเต็มที่ก็ไม่ได้ลดลง เป็นเท่าตัว ให้ประเมินว่าต่อ 1 วัน ใช้รถยนต์เฉลี่ยเป็นระยะทางเท่าไร จะประหยัดเงินได้วันละกี่บาท เมื่อนำไปคำนวณร่วมกับเงินที่ต้องเสีย 2 ทาง คือ ค่าเปลี่ยนเครื่องยนต์และราคาขายต่อที่ลดลง กี่เดือนกี่ปี่ถึงจะประหยัดค่าน้ำมันคุ้มค่ากับการลงทุนนั้น เครื่องคิดเลขช่วยคำนวณ ได้อย่างสะดวก
มีแนวโน้มว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์ เพื่อหวังความประหยัดน้ำมัน จะคุ้มค่าเงินก็ต่อเมื่อ มีการใช้รถยนต์วันละเกือบ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และอีกไม่น้อยกว่า 2 ปีถึงจะขายต่อ ถ้าใช้วันละไม่กี่สิบกิโลเมตร หรืออีกไม่นานก็ขายต่อ ก็ทนใช้เครื่องยนต์เดิม พร้อมเก็บเงินที่เตรียมไว้เปลี่ยนเครื่องยนต์มาช่วยเฉลี่ยในการเติมน้ำมันจะคุ้มค่ากว่า
‘‘ ข้ามพันธุ์ ไม่เสียคุณค่าเสมอไป
การเปลี่ยนเครื่องยนต์ข้ามยี่ห้อ ซึ่งมักจะเป็นรถยนต์ยุโรปเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ญี่ปุ่น ไฮเทคและราคาถูก หลายคนบอกว่าเสียคุณค่า หรือเรียกกันทั่วไปว่า เสียรถ และไม่น่าทำแบบนั้น
แม้จะมีส่วนจริง แต่ก็ไม่ใช่ในทุกกรณี โดยเฉพาะกับรถยนต์ยุโรปรุ่นเก่าๆ ที่อายุเกิน 10 ปี และไม่ได้เป็นรุ่นที่นิยมเก็บสะสม รถยนต์มีไว้ขับใช้งาน ถ้าเครื่องยนต์หมดสภาพและมีค่า ซ่อมแพง แล้วมีเครื่องยนต์อื่นที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ดี สามารถดัดแปลงได้อย่างสะดวก หากยอมรับกับค่าใช้จ่ายและราคาขายต่อที่น้อย ลงได้ ก็สามารถเลือกวิธีผสมข้ามพันธ์ มีรถยนต์ หลายรุ่นที่ทำเช่นนี้กันเกลื่อน เช่น บีเอ็มดับ เบิลยู รหัสตัวถัง อี30 อี34, วอลโว่ รุ่น 740 760, เมอร์เซเดส-เบนซ์ รหัสตัวถัง ดับเบิลยู123 ฯลฯ
แม้รถยนต์หลายรุ่นเหล่านี้ ถูกเปลี่ยนเครื่องยนต์ผสมข้ามพันธุ์กันทั่วไทย รวมแล้วหลายพันคัน แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทำ เพราะต้องดูที่ความเหมาะสมเป็นกรณีไป
‘‘ ขับหน้า ดัดแปลงยาก
รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้ากับการดัด แปลงเปลี่ยนเครื่องยนต์ผสมข้ามพันธุ์ ทำได้ยากและมีโอกาสที่จะใช้งานไม่ดีเหมือนรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลังที่ถูกดัดแปลง เพราะมีความยากในการติดตั้งเครื่องยนต์พร้อมเกียร์ให้ได้มุมพอดี และปัญหาของการดัดแปลงตัวเพลาขับเคลื่อนล้อหน้า
แม้มีรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าในไทย ถูกดัดแปลงวางเครื่องยนต์ข้ามรุ่นข้ามพันธุ์ ไปหลายร้อยคัน แต่ที่ผิดหวังเพราะใช้งานไม่ดีก็มีไม่น้อย
การเปลี่ยนเครื่องยนต์ มีหลายแง่มุมที่ต้องสนใจ และวิเคราะห์อย่าละเอียด ก่อนตัดสิน ใจเสียเงิน เพราะในบางกรณีก็มีความคุ้มค่า แต่หลายกรณีก็ไม่น่าทำ

คัดลอกมาจาก : วรพล สิงห์เขียวพงษ์ ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2545 09:35 น.
โดย: เต่าฟ้า   วันที่: 23 Nov 2004 - 14:30