Close this window

เล่าสู่กันฟัง
ทางรอดสุดท้ายของมิตซูบิชิ

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 24 กันยายน 2547 18:33 น.


บริษัทรถยนต์ที่กำลังหนีตายจากสภาพล้มละลายสำหรับปีนี้ คงหนีไม่พ้นมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น หรือ เอ็มซีซี ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 4 แห่งญี่ปุ่น เพราะต้องเผชิญกับปัญหาที่สั่งสมมากมาย อีกทั้งเมื่อปลายเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ยังถูกลอยแพโดยพันธมิตรสำคัญอย่างเดมเลอร์ไครสเลอร์ ซึ่งตัดความ ช่วยเหลือทางด้านการเงิน ทั้งๆ ที่ความช่วยเหลือของเดมเลอร์ ไครสเลอร์เกือบจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ช่วยดึงมิตซูบิชิออกมาจากปลักโคลนไม่ให้จมลงไป
แถมในอีก 2-3 เดือนต่อมา มิตซูบิชิยังต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธาของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากฟูโซ่ ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่มิตซูบิชิถือหุ้นอยู่ก่อนขายไปให้กับเดมเลอร์ ไครสเลอร์ จำเป็นต้องเรียกรถกลับคืนมา (Recall) เพราะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุทำให้มีคนเสียชีวิต โดยที่ผู้บริหารของบริษัทยังถูกขึ้นบัญชีดำอีกว่า อาจจะปกปิดความบกพร่องของตัวรถ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่มิตซูบิชิต้องเจอกับปัญหาเช่นนี้หลังประสบปัญหาเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายทศวรรษที่ 1990 และตกเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลงทั่วโลกราวกับติดจรวด

ขาดทุนสะสมและปัญหาเรื้อรัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามิตซูบิชิมีสภาพไม่ต่างจากนิสสันในยุคก่อนฟื้นฟู เพราะตัวเลขในบัญชีสีแดงถึง 4 ปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดสภาพการขาดทุนสะสมจนนำไปสู่ปัญหาในที่สุด ซ้ำร้ายมิตซูบิชิยังต้องเจอกับปัญหาในเรื่องอื้อฉาว จากการทำงานที่บกพร่องของผู้บริหาร ซึ่งไม่ยอมเรียกรถยนต์กลับคืนมาซ่อมแซม จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหา และลุกลามไปจนทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาที่ส่งผลต่อเนื่องกับยอดจำหน่าย ที่ไม่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลกเลยทีเดียว

ปัจจัยสู่การอยู่รอด
อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้มิตซูบิชิจำเป็นต้องฟันฝ่าปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงลำพัง และโยอิชิโร โอคาซากิ ซีอีโอของ มิตซูบิชิที่ดูแลปัญหาทางด้านการเงินได้ให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ ที่มิตซูบิชิใช่จะถึงกับปิดประตูอยู่รอด แต่ยังมีทางออกสำหรับก้าวข้ามวิกฤตที่เกิดขึ้น เพียงแต่จะต้องบรรลุความสำเร็จของปัจจัยทั้ง 4 ประการให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ข้อแรกที่โอคาซากิกล่าวถึงคือ พยายามสร้างกำไรจากการขายรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาให้มากที่สุด ซึ่งใครก็รู้ดีว่าตลาดเมืองลุงแซมมีขนาดใหญ่แค่ไหน ซึ่งยอดจำหน่าย 16-17 ล้านคันต่อปี ขอเพียงแค่มิตซูบิชิรักษาส่วนแบ่ง ในตลาดเอาไว้ และคอยจังหวะในการเพิ่มยอดให้ได้ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเกือบทุกรายกวาดกำไรจากตลาดสหรัฐอเมริกากันเป็นล่ำเป็นสัน ถ้ามิตซูบิชิไม่สามารถจัดการกับปัญหายอดจำหน่ายที่ลดลงในตลาดกลุ่ม นี้ให้ได้ งานนี้มีหวังไปไม่รอดอย่างแน่นอน
แน่นอนว่าลืมเรื่องการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาช่วยกู้วิกฤตไปเลย เพราะเงินทุนในการพัฒนามีไม่เยอะ แถมยังไม่สามารถการันตีได้ว่าของใหม่จะมาช่วยยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน และมีการชี้แนะว่า หากมิตซูบิชิต้อง การให้ตัวเลขกลับมามีสีดำจำเป็นที่จะต้องรุกตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แทน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ากลับมาเดินตามโชว์รูมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เหมือนอย่างที่มาสด้าเปิดตัวคอนเซ็ปต์ "ซูม-ซูม" ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่าง และที่สำคัญคือ อย่าพยายามไปแข่งขันกับโตโยต้า และฮอนด้าเป็นอันขาด

ญี่ปุ่น คือสิ่งที่ลืมไม่ได้
ข้อต่อไปที่มิตซูบิชิจะต้องทำให้ได้คือ การเพิ่มยอดจำหน่ายในญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ตัวเลขร่วง ลงมาถึง 52.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่ 15,862 คัน ส่วนแบ่งในตลาดลดลง 1.3% จากเดิมสูงถึง 6.3% ในปีที่แล้ว นี่คือการบ้านที่ทีมงานของมิตซูบิชิจะต้องแก้ให้ได้ ผู้บริโภคญี่ปุ่นไม่ศรัทธาในชื่อเสียงและรถยนต์ของมิตซูบิชิอีกแล้ว เพราะพวกเขารู้ว่ามิตซูบิชิปกปิดข้อบกพร่องของรถมานานถึง 30 ปี จนกระทั่งเรื่องแดงมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีคนเสียชีวิต 2 คน ทำให้ภาพลักษณ์ของมิตซูบิชิติดลบในความคิดของคนญี่ปุ่น
ปัญหาตรงจุดนี้หลายฝ่ายเปรียบเทียบว่ารุนแรงกว่าที่นิสสัน หรือเฟียตเคยเจอ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับภาพพจน์และความรู้สึกของคน ซึ่งบางทีเงินไม่ใช่เงื่อนไขที่สำคัญของการแก้ปัญหา
ข้อที่ 3 ของการแก้ไขปัญหา คือ การคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามารับหน้าที่แก้ปัญหา ซึ่งจะต้องเลือกให้ถูกต้องและมีความสามารถจริงๆ และในตอนนี้ต้องอย่าลืมว่า มิตซูบิชิสู้และแก้ไขเพียงลำพังโดยที่ไม่มีเดมเลอร์ไครสเลอร์หนุนหลังแล้ว

ทางออกสุดท้ายที่จีน
ตลาดรถยนต์จีนเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันจะเข้าไปเจาะตลาด เนื่องด้วยความสดใหม่ของตลาดและจำนวนลูกค้าที่มีมากมาย โอคาซากิให้ความเห็นว่ามิตซูบิชิจำเป็นที่จะต้องรุกตลาดจีนให้หนักและต่อเนื่อง รวมถึงชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งให้ได้มากที่สุด
นอกจากนั้น มิตซูบิชิจำเป็นที่จะต้องมองหาพันธมิตรใน การร่วมพัฒนารถยนต์เพื่อลดต้นทุนทั้งในเรื่องเวลาและเงินทุน และแน่นอนว่าตัวเลือกที่มีอยู่คงไม่ใช่แบรนด์รถยนต์ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป หรือเกาหลีใต้ แต่จำเป็นที่จะต้องจับมือกับผู้ผลิตรถยนต์ ในจีน โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ อย่าง เฟิร์สต์ ออโตโมทิฟ เวิร์ก หรือเอฟเอดับเบิลยู และเอสเอไอซี หรือเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทิฟ คอร์ปอเรชัน ซึ่งจะเป็นฐานกำลังหลักให้มิตซูบิชิสามารถเจาะเข้า สู่ตลาดจีนได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
แม้ว่ากฎหมายของจีนจะจำกัดให้บริษัทรถยนต์ในประเทศจีนจับมือกับผู้ผลิตรถยนต์ต่างแดนได้ไม่เกิน 2 ราย แต่ ส่วนใหญ่ก็ยังเหลืออีก 1 พื้นที่ซึ่งยังเปิดกว้างสำหรับบริษัทรถยนต์ ต่างแดนรายอื่น และพร้อมที่จะจับมือกับบริษัทไหนก็ได้ซึ่งเอื้อประโยชน์อย่างสูงสุดทั้งในเชิงยอดจำหน่ายและเทคโนโลยี ซึ่งจะว่าไปแล้วมิตซูบิชิก็มีเทคโนโลยียานยนต์ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นเลย
แน่นอนว่า ทั้ง 4 ข้อคือ สิ่งที่มิตซูบิชิจำเป็นจะต้องทำให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอด ซึ่งถ้าทำไม่ได้หรือทำได้แต่ไม่ทันเวลาแล้ว โอกาสที่มิตซูบิชิจะเหลือแต่ชื่อ และตกไปอยู่ใน มือของผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ย่อมมีสูงอย่างยิ่ง
โดย: ผู้จัดการ   วันที่: 29 Sep 2004 - 15:24


 ความคิดเห็นที่: 1 / 2 : 009527
โดย: J!MMY
เอาละ
มาฟังเรื่องของผมบ้างดีกว่า
เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดกันไปกว่านี้

ก่อนอื่น
ผมไม่รู้ว่า บทความนี้ แปลมา หรือว่าเขียนขึ้นเอง
แต่ต่อให้แปลมา หรือเขียนขึ้นเอง
ผมก็ยังมองว่า เป็นความพยายามวิจารณ์อย่างคนที่ไม่ได้มีข้อมูลหรือองค์ความรู้เพียงพอ

ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นกับมิตซูบิชินั้น จริงอยู่ว่า ผู้บริหารฝั่งญี่ปุ่น รวมทั้งสต๊าฟหลายๆฝ่าย
ช่วยกันยำให้มันเลวร้ายเอง โดยทั้งรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่
เพราะนิสัยในการทำงานของคนญี่ปุ่น
เดี๋ยวนี้ มักเป็นพวก "นายว่าขี้ข้าพลอย"
นายอยากปกปิด ขี้ข้าก็ต้องทำด้วย
ไม่เช่นนั้นก็ไม่อยู่รอดในตำแหน่งงาน
ซึ่งเป็นวิธีคิดของคนญี่ปุ่นยุคหลังที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมของคนญี่ปุ่น
ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้อย่างดี

กอปรกับการโหมกระพือข่าวออกไปของสื่อมวลชนต่างประเทศ ตามสิ่งที่เกิดขึ้น
ซึ่งในช่วงแรก ดีซีเองก็ยังคลุมเครืออยู่

แต่มันจะไม่พังมากขนาดนี้ ถ้าบรรดานักวิเคราะห์อุตสาหกรรม
ซึ่งส่วนใหญ่ มักใช้บรรทัดฐานของตนเป็นเกณฑ์วัดเป็นหลัก
อีกทั้งยังมีความพยายามกระหน่ำและโจมตีให้ราคาหุ้นของมิตซูบิชิ
ให้ตกต่ำลงจนยากจะฟื้น

แต่จากที่ผมนั่งดูอยู่ตลอด
ผมเชื่อว่า มิตซูบิชิ ยังไม่จนมุมเลวร้ายขนาดนั้นหรอกครับ
สถานการณ์บางด้านอาจย่ำแย่กว่านิสสัน
แต่บางด้าน ก็ดีกว่านิสสันในขณะเกิดวิกฤติเมื่อปี 1999 ด้วยซ้ำไป

ข้อเท็จจริงก็คือ

ดีซี ยังไม่ถอนหุ้นทั้งหมดออกจากเอ็มเอ็มซีนะครับ

แค่ว่าไม่ลงทุนเพิ่มจากนี้อีกแล้ว
ด้วยความคิดที่ว่า ยังไงๆญี่ปุ่นก็คงไม่ยอมปล่อยให้กิจการนี้
ตกไปอยู่ในมือเยอรมัน/อเมริกัน
ดังนั้น ถ้าเป็นคุณ คุณจะลงทุนเพิ่มทำไมละครับ?

ดีซี ยังไงก็คงไม่ยอมถอนหุ้นหรอกครับ
เพราะความจริงคือ ภายใต้ภาพอันสดสวยที่งดงามจากเมอร์เวเดส-เบนซ์
แต่ข้อเท็จจริงคือ รถเล็กจากไครส์เลอร์ สำหรับตลาดอเมริกันนั้น
กลับไม่เป็นที่นิยมของตลาด
สู้คู่แข่งเขาไม่ได้
และนี่คือตัวฉุดรั้งสถานการณ์ของดีซี ให้แย่ในตลาดอเมริกาเหนือ

ถ้าจะดื้อดึงพัฒนาเอง งบลงทุนจะบานปลายมาก
ดังนั้นการร่วมงานกันกับมิตซูบิชิ จึงยังมีประโยชน์อยู่
เพราะต่างฝ่ายต่างจะได้ระหยัดงบของตนลงไปทั้งคู่
รถหลายรุ่น บนพื้นตัวถังเดียวกัน
จะคลอดออกมาด้วยงบประมาณที่ต่างฝ่ายต่างออกตังค์คนละครึ่งโดยประมาณ

นี่คือเหตุผลที่ทำให้มีข้อสรุปว่า
รถอะไรที่มีโครงการดีลร่วมกันมาก่อนอยู่แล้ว
ก็จะยังเดินหน้าร่วมกันต่อไป

ผมเห็นด้วยทั้งหมดในย่อหน้าที่ 4 แต่ไม่เห็นด้วยในย่อหน้าที่ 5
เพราะความจริงคือ มิตซูบิชิเองก็มีการจับมือผู้ผลิตในจีนอยู่แล้ว
และมีการบุกตลาดจีนด้วยรถออฟโรด ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่คนจีนกำลังให้ความนิยมอย่างมาก
เรียกได้ว่ามิตซูบิชิเปิดตัวได้ในระดับกำลังดีแล้วที่จีน

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยนั่นคือเรื่องของการที่ผู้เขียนบทความนี้
บอกว่ามิตซูบิชิ ควร "ลืมเรื่องการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มาช่วยกู้วิกฤตไปเลย เพราะเงินทุนในการพัฒนามีไม่เยอะ แถมยังไม่สามารถการันตีได้ว่าของใหม่จะมาช่วยยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน"
อีกทั้งยังมาระบุว่า มิตซูบิชิ ควรเอาอย่าง มาสด้า ที่พยายามทำตัวให้เจาะกลุ่ม Niche market

ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยว่ามิตซูบิชิควรจับกลุ่ม Niche market ก็จริงอยุ่
แต่นั่นควรจะเกิดขึ้นกับรถยนต์กลุ่มออฟโรด และรถยนต์นั่งเท่านั้น

แต่ผู้เขียนลืมไปแล้วหรือว่า รถกระบะคอมแพกต์ ที่ขายดีที่สุดในโลกเวลานี้
ถ้าไม่นับสหรัฐอเมริกาและไทยแล้ว ประเทศอื่นๆ มิตซูบิชิเอาไปกิเรียบวุธนะครับ!
ดังนั้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มิตซูบิชิ ไม่สามารถทำตัวเป็นรถยนต์สำหรับกลุ่มตลาดเฉพาะ
ได้เต็มที่นัก

เพราะอันที่จริงแล้ว มิตซูบิชิ มีจุดขายอยู่ที่รูปทรง ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี
และภาพลักษณ์ด้านมอเตอร์สปอร์ต ไปจนถึงด้านราคากับสมรรถนะ สอดคล้องกัน

ไม่เข้าใจว่าผู้เขียนบทความนี้เข้าใจอุตสาหกรรมรถยนต์แค่ไหน ถึงได้ระบุออกมาแบบนี้

ทำไม?
***เพราะว่า มาสด้าในเมืองไทย คือตัวอย่างที่ดีที่สุด
การปล่อยให้มีทางเลือกหลากรุ่น แต่ปราศจากความสดใหม่เพียงพอที่จะกระตุ้นความสนใจของลูกค้า
คืออุปสรรคสำคัญในการขัดขวางการเจริญเติบโตของมาสด้าในไทย ที่ต่อให้กระตุ้นในด้าน
บริการหลังการขายมากแค่ไหน และลงทุนสร้างแบรนด์คาแรคเตอร์ ไปเท่าใด
ถ้าตัวผลิตภัณฑ์ ยังไม่สามมารถสร้างจุดดึงดูดที่แตกต่างให้กับลูกค้าได้ ก็ลืมเรื่องอื่นไปได้เลยครับ***

ขณะที่มาสด้า ทั่วโลกนั้น
ที่เขากลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
เพราะมาสด้ารู้ดีว่าจุดแกร่งของตนอยู่ที่ สมรรถนะของตัวรถ
องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการสร้างรถทั้งคันให้มีความสมดุลตลอดการผู้ขับขี่ ถุกดึงออกมา
ใช้อย่างเต็มที่โดยที่ใครก็ขวางไม่ได้
รวมทั้งฝ่ายออกแบบที่มีวิสัยทัศน์ต่ออนาคตอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ตั้งใจจะขายของ
หากินไปวันๆเหมือนค่ายใหญ่ๆ

อีกทั้งมาสด้ารู้ดีว่าจุดแกร่งของตนอยุ่ที่ยุโรป มาสด้าจึงทุ่มสรรพกำลังทำรถออกมาเอาใจคนยุโรป
เพราะว่า คนทั่วโลกยกย่องงานวิศวกรรมรถยุโรปว่าเป็นเลิศ
ดังนั้น ถ้าทำรถออกมาโดนใจคนยุโรปได้ ตลาดอื่น ก็แทบไม่มีปัญหา

มิตซูบิชินั้นเป็นบริษัทที่มีสถานการณ์ต่างออกไป
คนในองค์กร ต่างรู้ดีว่า มิตซูบิชิจะเป็นรถที่มีอนาคตพุ่งสวยหรูได้แน่
ขาดก็แต่หัวเรือที่ดี เท่านั้นเอง

รถที่รอคลอดออกมาในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้
จะมีหลายรุ่นที่เรียกได้ว่า น่าตื่นตาตื่นใจกับตลาดเลยทีเดียว

ดังนั้นผมยังเชื่อว่า อนาคตของมิตซูบิชิยังไปได้ดีแน่

-----------------
ก่อนจากกัน ฝากคำถามไว้ข้อหนึ่ง...

ลองคิดเล่นๆว่า ถ้าคาร์ลอส โกส์น จะเป็นประธานใหญ่ของมิตซูบิชิละ?
วันที่: 30 Sep 04 - 00:13

 ความคิดเห็นที่: 2 / 2 : 009679
โดย: rex 2.0
ดีแฮะ ไม่ต้องไปรออ่านจากนิตยสารไหน ขอบใจนะ จิมมี่ ก็ถือว่าเล่าสู่กันฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะ

แต่ ขอพูดอะไรหน่อยเถอะ

พี่ว่า Petter Solberg กับรถ Subaru ของเค้า แจ๋วกว่า!!
วันที่: 01 Oct 04 - 08:59