Close this window

เก็บมาฝากครับ
(จาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เสาร์สวัสดี 17 ก.ค.2547)

รสชาติของอำนาจ

เชื่อแล้วว่า คนมีอำนาจทำให้ใบบัวบกขายดี

วันก่อนผมเดินลงจากสถานีตำรวจ หลังเสียค่าปรับไปหนึ่งร้อยบาท ด้วยความสงสัยว่า ตอนที่ตำรวจจราจรเขียนไปสั่งนั้น เขาเขียนด้วยความรู้สึกอย่างไร นอกจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว เขาได้เจือความรู้สึกหมั่นไส้ผมลงไปด้วยหรือเปล่า เพราะตอนแรกข้อหาที่เขาตั้งผมนั้นเป็นข้อหาหนัก อัตราค่าปรับอยู่ที่ 400-1,000 บาททีเดียว ไม่นับตัดแต้มอีกด้วย

เรื่องเริ่มต้นจากที่ตำรวจเรียกให้หยุดหลังผมเลี้ยวรถตรงจุดห้ามเลี้ยว เขาขอใบขับขี่และแจ้งข้อหาขับรถกีดขวางการจราจร ซึ่งผมก็ยอมรับแต่โดยดี และชี้แจงขอความเห็นใจว่าไม่ค่อยคุ้นทางขอให้คุณตำรวจแค่ตักเตือนได้หรือเปล่า เพราะตามหลักแล้วขึ้นกับดุลยพินิจของตำรวจไม่ใช่หรือ แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันคำเดิมพร้อมขอใบขับขี่ ผมก็พยายามต่อรอง ทางตำรวจยืนยัน ให้เลี้ยวรถเข้าไปคุยกับร้อยเวรในโรงพัก แต่เขียนใบสั่งข้อหา กีดขวางการจราจร แถมด้วยไม่มีใบขับขี่ทั้งที่ผมมี

นายร้อยเวรผู้ทำหน้าที่เปรียบเทียบปรับ แจ้งว่าข้อหาหนักค่าปรับแพง แนะนำให้ผมไปต่อรองกับคนเขียนใบสั่ง แต่เขาหายตัวไปจากโรงพักเสียแล้ว เจอตำรวจอีกคนที่ใต้ถุนบอกว่า ถ้าเป็นเขากรณีแบบนี้ สั่งแค่ข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบนพื้นก็พอแล้ว ค่าปรับก็หนึ่งร้อยบาท พร้อมให้ความเห็นที่น่าสนใจสำหรับผมว่า ช่วงนี้มีการจับและปรับหนัก เพื่อล่ารางวัลส่วนแบ่งค่าปรับสำหรับเจ้าหน้าที่ พร้อมพลิกด้านใบสั่งมาให้ดู ว่าการเปรียบเทียบปรับ มีตั้งแต่ตักเตือนไปจนเปรียบเทียบปรับ และอื่นๆ ขึ้นกับดุลยพินิจของตำรวจ

ผมจึงเจรจากับร้อยเวรอีกครั้ง ซึ่งเขาก็มีความเห็นส่วนตัวว่า ข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรก็เพียงพอแล้ว แต่เขาไม่มีอำนาจแก้ไข ผมก็บอกว่า ผมรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน และการที่เขาเลือกตั้งข้อหาหนัก เป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมหรือเปล่า แล้วอุดมคติที่เขียนไว้บนสถานีที่ว่า ตำรวจจะต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยเห็นอกเห็นใจประชาชน มีความหมายหรือไม่

ร้อยเวรบอกว่า ถ้ารู้สึกว่าข้อหานี้ไม่เหมาะสม ก็สามารถฟ้องศาลปกครองให้ระงับใบสั่งได้ หรือจะไปเจรจา กับผู้บังคับบัญชาฝ่ายจราจรก่อน ผมเลือกอันหลังแต่บังเอิญผู้ใหญ่ไม่อยู่ เหลือเพียงร้อยเวรจราจร ท่านบอกว่า เห็นตั้งแต่ตอนเถียงกันกับตำรวจตั้งนาน พร้อมตัดบทว่า จะตั้งข้อหาอะไรเป็นวิจารณญาณ ของเจ้าหน้าที่ทำได้ ตามอำนาจตาม ก.ม. ไม่ยอมรับฟังที่ผมพยายามอธิบายว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าผมผิดหรือเปล่า แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ บนพื้นฐานความเห็นอกเห็นใจประชาชนหรือเปล่าต่างหาก

เมื่อไม่ฟัง วาระนั้นผมคิดว่า คงต้องพึ่งศาลปกครองแล้วกระมัง
แต่ก่อนที่เรื่องจะลุกลามต่อไป โชคดีมีคนขี่ม้าขาวมาสงบศึก แม้ได้ลดค่าปรับไป แต่ผมก็ยังคับข้องใจอยู่ว่า ที่จริงแล้วผมควรจะประนีประนอม หรือควรเรียกร้องความเป็นธรรม ในเมื่อจราจรผู้เขียนใบสั่ง ซึ่งสุดท้ายกลับมาโรงพัก และยอมตัดข้อหาออกยืนยันว่า ที่ระบุข้อหาหนักก็เพราะ เห็นว่าผมทำท่าเป็นรู้กฎหมาย เขาก็เลยทำตามกฎหมายไม่ประนีประนอม

พูดง่ายๆ ผมเพิ่งถึงบางอ้อว่า การอธิบายความไม่รู้เส้นทางของผม และเจรจาต่อรอง ให้ตำรวจเลือกใช้ดุลยพินิจ เพื่อขอความเห็นใจ ให้ตำรวจแค่ตักเตือน ถือเป็นการเถียงและทำตนเป็นผู้รู้มาก อันนำมาซึ่งความลำบาก และเสียเวลามากกว่าสามชั่วโมงในวันนั้น

ผมสงสัยอยู่ว่าในฐานะประชาชนเรา ได้มอบอำนาจให้กับใครไปบ้าง และท้ายที่สุด อำนาจนั้นได้นำพาซึ่งความสงบมาสู่สังคม และนำชีวิตที่ดีมาให้เราจริงหรือ ในเชิงปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน ใครบ้างที่ได้เข้าไปเล่นกับอำนาจ และเขาเหล่านั้นควบคุมตนเองอย่างไร

เหตุการณ์ในวันนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าผมยื่นบัตรนักข่าวให้ หรือบังเอิญเป็นคนมีชื่อเสียง อย่างที่ดาราน้อยใหญ่ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นดาราก็ดีหลายอย่าง เวลาตำรวจเรียกส่วนใหญ่เขาก็แค่ตักเตือน หรือถ้าผมเป็นเครือข่ายอิทธิพล แต่ในฐานะประชาชนคนธรรมดา ผมพบว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ที่เราจะเจรจากับอำนาจ เพราะเมื่อเราอ้าปาก อำนาจจะสั่งให้เราหุบปากทันที

มิน่าเล่า ใบบัวบกจึงขายดีในหมู่ประชาชน.
โดย: นพดล   วันที่: 17 Jul 2004 - 09:33


 ความคิดเห็นที่: 1 / 1 : 002262
โดย: มิตรป้อมพระจุลฯ
เห็นด้วยและเห็นใจ คราวต่อไปไม่ทำผิดกฏจริงๆ
มีกรณีแบบนี้ คุณจะมีอำนาจเหนือใครๆ
ใครก็สั่งอะไรคุณไม่ได้จรังๆครับ
วันที่: 19 Jul 04 - 12:14