User Name :
  Password :

จำนวนสมาชิก 17,837 คน
จำนวนรถ 4,779 คัน

ออนไลน์ 0 คน

รายนามขาเม๊าท์ (0)
  - ไม่มีคนเม๊าท์

Currency Convert



Article

Article Menu
Mazda Transmission - Hold Mode
สรุปคำบรรยายวิธีใช้เกียร์อัตโนมัติ "เหนืออัจฉริยะ" ของมาสด้า

ก่อนอื่นขอบอกไว้ก่อนนะคะว่า คำว่าเกียร์อัตโนมัติเหนืออัจฉริยะเนี่ย ทางมาสด้าเป็นคนบัญญัติ ไม่ใช่หมูอ้วนเข้าข้างมาสด้าแต่อย่างใด ในบทสรุปที่จะนำมาลงนี้ มาจากการฟังคำบรรยายที่ทางมาสด้าซิตี้เป็นผู้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมี อ.มนุญเป็นผู้บรรยายนะคะ

เรื่องพื้นฐาน ***

เกียร์ในรถยนต์เปรียบได้กับเฟืองโซ่ของจักรยาน เกียร์ 1 เป็นเสมือนเฟืองขนาดใหญ่ หมุนช้า แต่ให้ torque (แรง) สูง ในเกียร์ธรรมดา จะมีถึงเกียร์ 5 ซึ่งเปรียบได้กับเกียร์ overdrive หรือ เกียร์ 4 ในเกียร์อัตโนมัติ

เกียร์ overdrive นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยประหยัดน้ำมัน กล่าวคือช่วยให้รอบไม่เพิ่มขึ้นไปจนสูงมาก เมื่อขับด้วยความเร็วสูงต่อเนื่อง แต่ผู้ขับรถหลายท่านมักเข้าใจว่า เกียร์สูงสุด ทั้งในระบบเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ เป็นเกียร์ที่ช่วยในการเร่งความเร็วขึ้นอีก ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของเกียร์สูงสุด

อัตราทดเกียร์ เกียร์ 1 จะมากที่สุดแล้วลดลงเรื่อย ๆ จนถึงเกียร์ 4 (อัตโนมัติ) และ 5 (ธรรมดา) อ.มนุญผู้บรรยายยืนยันว่า หากขับเกียร์อัตโนมัติอย่างถูกวิธีแล้ว จะกินน้ำมันน้อยกว่าหรือเท่ากับเกียร์ธรรมดาเลยทีเดียว

*** ความหมายของตำแหน่งต่าง ๆ ในเกียร์อัตโนมัติของมาสด้า ***

- เมื่อไม่ได้อยู่ในโหมด Hold

P หรือ Park
เป็นเกียร์ที่ใช้เมื่อจอดรถ แต่เกียร์นี้ ไม่ใช่เบรคมือ ไม่ควรเข้า Park เวลาจอดอยู่บนเนิน หรือทางลาดชันอย่างสะพาน หรือทางขึ้นลงที่จอดรถ แทนการเหยียบเบรคหรือดึงเบรคมือ เพราะเกียร์จะแบกน้ำหนักรถมากเกินไป ควรใช้ P เมื่อนำรถเข้าจอดในช่องแล้ว หรือจอดที่บ้านในโรงจอดรถ

R หรือ Reverse
เป็นเกียร์ถอยหลัง มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเปลี่ยนมาเป็นเกียร์ถอยหลังขณะรถเคลื่อนที่อยู่

N หรือ Neutral
คือเกียร์ว่าง
คำถามที่มักถามกันบ่อยคือ เมื่อใดควรเลื่อนจาก D มาเป็น N
คำตอบคือ ไม่ควรเข้า D, S, L แล้วเหยียบเบรคเป็นเวลานานเกิน 5 นาที ถ้าคิดว่าเกิน ก็เปลี่ยนเป็น N ดีกว่า และถ้าจอดรถขวางชาวบ้านอยู่ ก็กรุณาเข้า N ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้รถถูกขูดขีดเป็นรอย เนื่องจากมีคนหมั่นไส้เพราะเข็นรถคุณไม่ได้

D หรือ Drive
เกียร์นี้ คือ เกียร์อัตโนมัติเต็มรูปแบบ มีตั้งแต่เกียร์ 1-4

S หรือ Second
เกียร์นี้ของมาสด้า มีทั้งหมด 3 เกียร์ คือ 1,2 และ 3

L หรือ Low
ชื่อบอกอยู่แล้วนะคะว่าเป็นเกียร์ต่ำ ในเกียร์นี้มี 2 เกียร์ด้วยกันคือ 1 และ 2 ใช้สำหรับขึ้นลงที่ลาดชัน ขึ้นเขาลงเขา ขึ้นที่จอดรถ

- เมื่อใช้ Hold
เมื่อกดปุ่ม Hold แล้วมีไฟสัญญาณแสดงว่า hold ขึ้นที่หน้าปัทม์ ระบบเกียร์อัตโนมัติจะเปลี่ยนไปดังนี้

เกียร์ P,R,N ยังเหมือนเดิม แต่เกียร์ 3 อันล่าง ให้ดูตัวเลขแสดงที่อยู่แถวเดียวกับคำว่า hold ที่มีลูกศรชี้ลงมา จะเห็นว่า
D เป็นเกียร์ 3 เท่านั้น (เว้นเวลาหยุดแล้วออกรถ เกียร์จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำให้ก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นเกียร์ 3 เพื่อป้องกันความเสียหาย)
S เป็นเกียร์ 2 เท่านั้น (เช่นเดียวกับเกียร์ D เกียร์จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำให้ก่อน เมื่อออกตัว)
L เป็นเกียร์ 1 เท่านั้น
การ hold จะถูกยกเลิกเมื่อกดปุ่ม hold อีกครั้ง (ไฟสัญญาณที่หน้าปัทม์ดับ) และจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติเมื่อปิดสวิตช์กุญแจ

*** ปุ่มล็อคที่เกียร์ ***
ปุ่มใหญ่ที่อยู่ทางขวาของหัวเกียร์นั้น เป็นปุ่มที่ใช้ป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถเข้าเกียร์ผิดจนเกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ เกียร์ หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ไม่ควรกดปุ่มนี้ทุกครั้งที่เข้าเกียร์ -กรณีเข้าเกียร์ไล่จากบนลงล่าง
P ไป R ต้องกด
R ไป N ไม่ต้องกด
N ไป D ไม่ต้องกด
D ไป S ไม่ต้องกด
S ไป L ต้องกด
(จะเห็นว่า หากผลักลงสุดเลย จะไปสุดที่ S ซึ่งเป็นเกียร์ที่ใช้กับการขับรถในเมืองที่ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.ได้ และเมื่อจะเข้าเกียร์ว่างเมื่อรถหยุด ก็ผลักขึ้นสุด เกียร์จะไปสุดที่ N) -กรณีเข้าเกียร์โดยผลักจากล่างขึ้นบน
L ไป S ไม่ต้องกด
S ไป D ไม่ต้องกด
D ไป N ไม่ต้องกด
N ไป R ต้องกด (เพื่อป้องกันการถอยหลังแบบไม่ตั้งใจ และป้องกันเกียร์พังกรณีเปลี่ยนทิศทางการขับรถจากหน้าเป็นหลังขณะรถยังเคลื่อนอยู่)
R ไป P ต้องกด

เรื่องพื้นฐานก็คงมีเพียงเท่านี้นะคะ ต่อไปจะเป็นการใช้เกียร์ในสถานการณ์ต่าง ๆ

== หมายเหตุ===
เสริมเรื่องปุ่ม hold ของมาสด้าอีกนิด แต่เป็นเรื่องสำคัญ
คือ ปุ่ม hold ของมาสด้านั้น "ไม่ใช่" ย้ำ "ไม่ใช่" ปุ่ม overdrive off (เกียร์ overdrive คือเกียร์ 4 ในเกียร์อัตโนมัติ ดังนั้นปุ่ม overdrive off ในรถยี่ห้ออื่น ๆ ก็คือการตัดเกียร์ 4 ทิ้งไป ให้เหลือ 1-3 ซึ่งถ้าวิ่งเร็ว ๆ โดยใช้เกียร์ 4 อยู่ แล้วต้องการเร่งแซง จะใช้วิธีเหยียบคันเร่งให้มิดเพื่อคิกดาวน์ หรือกดปุ่ม overdrive off ก็ได้ เกียร์จะเหลือ 1-3 แต่ของมาสด้าไม่ใช่ เพราะเมื่อกด Hold เกียร์ D จะเป็นเกียร์ 3 เท่านั้น เว้นแต่เมื่อรถหยุดแล้วออกตัว เกียร์จะช่วยเซฟให้โดยเปลี่ยนไปเป็นเกียร์ต่ำก่อนเพื่อออกรถแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นเกียร์ 3)

ดังนั้น การออกรถขณะใช้ระบบ Hold อยู่ (มีไฟสัญญาณที่หน้าปัทม์) จึงควรออกรถด้วยเกียร์ L แล้วเปลี่ยนขึ้นไปเรื่อย ๆ เหมือนเกียร์ธรรมดา ถ้าไม่เปลี่ยน เกียร์จะอยู่ที่เกียร์ 1 ไปตลอดกาล

*** วิธีการใช้เกียร์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ***
= ขับในเมือง =
การขับในเมือง คงมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะใช้ความเร็วได้ตั้งแต่ 80 กม./ชม.ขึ้นไป ขนาดขึ้นทางด่วนบางทีก็ยังไม่สามารถทำความเร็วได้ เกียร์ที่เหมาะสมจะใช้กับการขับในเมืองคือ S (มี 3 เกียร์คือ 1 2 3) ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าเกียร์ได้ง่ายด้วย คือ เมื่อจะออกรถก็ผลักเกียร์ลงมาสุด (ไม่ต้องกดปุ่มล็อคเกียร์ที่อยู่ทางขวา) เกียร์จะมาสุดที่ S และเมื่อรถหยุด ก็ผลักขึ้นสุด (ไม่ต้องกดปุ่มล็อคเกียร์เช่นกัน) เกียร์ก็จะสุดที่ N ทำให้เข้าเกียร์ได้ถนัด แม่นยำ ไม่ต้องคอยมอง เหมือนการเข้า D แต่จำไว้ว่า เกียร์ S ไม่ควรใช้วิ่งเกิน 80 กม./ชม. เพราะจะกินน้ำมัน และเครื่องจะทำงานหนักที่รอบสูง ดังนั้นหากเข้า S ไว้ เมื่อทำความเร็วได้แล้ว ก็ผลักขึ้นไปเป็น D ได้ค่ะ

= รถติดนานแค่ไหนถึงควรผลักเกียร์ไปที่ N =
คำตอบคือ ถ้าไม่ใช่การเคลื่อนตัวไปเรื่อย ๆ ขับ ๆ หยุด ๆ แต่ต้องหยุดนานเกินกว่า 5 นาที ให้ผลักไปที่ N อย่าเข้า S หรือ D แล้วเหยียบเบรคค้างไว้เป็นเวลานาน ๆ เปลืองทั้งเบรค เปลืองทั้งความสึกหรอที่กลไกเกียร์ (อันนี้เป็นข้อถกเถียงกันจนเป็นเรื่องใหญ่โต เอาเป็นว่า ถนัดยังไงก็ทำอย่างงั้น เมื่อยก็ผลักไปN ก็แล้วกัน)

= การเร่งแซง =
วิธีที่ 1
ให้เหยียบคันเร่งจนสุด เพื่อให้เกียร์คิกดาวน์ไปเป็นเกียร์ที่ต่ำลง เมื่อแซงเสร็จ ผ่อนคันเร่ง เกียร์จะเปลี่ยนไปเกียร์สูงกว่า
วิธีที่ 2
โยกคันเกียร์ จาก D เป็น S (ซึ่งคือ 1-3) เมื่อแซงเสร็จแล้วก็ผลักกลับไปที่ D เหมือนเดิม (มี 4 เกียร์)
วิธีที่ 3
กดปุ่ม Hold หากขับด้วยเกียร์ D อยู่ เกียร์ก็จะเปลี่ยนเป็นเกียร์ 3 เมื่อแซงเสร็จ กดปุ่ม Hold อีกครั้ง เพื่อปิด เกียร์ D ก็จะกลายเป็น 1-4 ตามเดิม
อย่าลืมว่า Hold ไม่ใช่ overdrive off นะคะ

= การขับลงทางลาดชัน =
การขับลงที่ลาดชัน ทุกท่านคงจะทราบอยู่แล้วว่าต้องใช้เกียร์ต่ำเพื่อใช้เครื่องยนต์หน่วงไม่ให้รถไหลไปเร็วเกินไปจนต้องเบรคตลอดเวลา ดังนั้น ในการใช้เกียร์อัตโนมัติก็เหมือนกับเกียร์ธรรมดา คือต้องเปลี่ยนเกียร์มาเป็น S หรือ L เมื่อลงที่ลาดชัน ตามน้ำหนักบรรทุกและองศาของพื้นที่ลาดชันนั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ขับลง (ไม่ใช่ขับด้วยความเร็วเป็น 100 กม./ชม.) แตะเบรกช่วยบ้างบางครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันเบรค หรือผ้าเบรคร้อนเกินไปจนไหม้

อย่าใช้เกียร์ D ขับลงที่ลาดชัน เพราะในเกียร์นี้จะไม่มีการใช้เครื่องยนต์หน่วงรถ หรือ engine brake เลย รถจะไหลไปด้วยความเร็ว เกียร์ก็จะเปลี่ยนเป็นเกียร์สุงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีการหน่วง

หากขับมาด้วยความเร็วสูง เช่น ประมาณ 100 กม./ชม. ขึ้นไป แล้วต้องลงทางลาดชัน ให้ชะลอก่อน แล้วจึงเปลี่ยนเกียร์ลงมาเป็น S หากมีองศาชันมาก ก็ให้ชะลอลงเรื่อย ๆ แล้วค่อยเปลี่ยนจาก S เป็น L

อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือหากวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ให้ชะลอรถลง แล้วกด Hold จากนั้นก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเกียร์ลงเหมือนการขับเกียร์ธรรมดา แต่ใน Hold mode นี้ มีการจำกัดความเร็วของแต่ละเกียร์ไว้ด้วย ดังนี้ค่ะ

เกียร์ S
รุ่น 1600 ซีซี ไม่เกิน 101 กม./ชม.
รุ่น 1800 ซีซี ไม่เกิน 108 กม./ชม.
รุ่น 2000 ซีซี ไม่เกิน 106 กม./ชม.
เกียร์ L
รุ่น 1600 ซีซี ไม่เกิน 52 กม./ชม.
รุ่น 1800 ซีซี ไม่เกิน 57 กม./ชม.
รุ่น 2000 ซีซี ไม่เกิน 55 กม./ชม.

= จะทราบได้อย่างไรว่าเกียร์มีปัญหา =
ไฟ hold จะกะพริบ ให้รีบเอารถเข้าศูนย์บริการทันทีค่ะ

*** การดูแลรักษาเกียร์ ***
เกียร์ประกอบด้วยหน่วยไฟฟ้า สมอง (ใช้คำนวณลักษณะการขับขี่ พื้นผิวถนน น้ำหนัก ฯลฯ) และเฟือง ดังนั้นหากเกียร์เสีย ควรเช็ค 3 จุดนี้ ระวังอย่าให้น้ำเข้าเกียร์ ถ้าเป็นไปได้ อย่าลุยน้ำสูงเกินแก้มยาง (หรือขอบล้อด้านล่าง) และควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์บ่อยกว่าที่กำหนดไว้ในคู่มือ (เปลี่ยนทุก 10,000 กม.ก็ได้ค่ะ) หากลุยน้ำสุง ๆ มา ตรวจเช็คน้ำมันเกียร์ พบว่าสีจางลงเป็นสีชมพู แปลว่าน้ำเข้าไปแล้วแน่ ๆ ให้เปลี่ยนน้ำมันเกียร์เลยค่ะ

เวลาตรวจน้ำมันเกียร์
ถ้าเป็นสีแดง แสดงว่าปกติ
ถ้าเป็นสีชมพู แสดงว่าน้ำเข้า
ถ้าเป็นสีน้ำตาล แสดงว่ามีฝุ่นเข้าและเกิดการไหม้ขึ้น

อย่าเติมน้ำมันเกียร์เกินขีดที่กำหนดไว้ น้ำมันจะกระเพื่อมมากไป
น้ำมันเกียร์อัตโนมัติที่มาสด้าใช้คือ Dexron II ไม่ควรเปลี่ยนสลับไปมา
การวัดระดับน้ำมันเกียร์จะไม่เหมือนกับการวัดน้ำมันเครื่อง เพราะต้องวัดขณะที่เครื่องยนต์ได้อุ่นเครื่องแล้ว

================================ ที่มา: การอบรมเรื่องเกียร์อัตโนมัติ ของรถยนต์มาสด้า โดยมาสด้าคลับ และมาสด้า ซิตี้
วันที่ 25 พฤษภาคม 2545 ที่ มาสด้า ซิตี้@ลุมพินี
รวบรวมสรุปเนื้อหาคำบรรยายโดย คุณหมูอ้วนตัวใหญ่





มาดูความแตกต่างเรื่อง Over Drive กันหน่อย

OVERDRIVE ของเกียร์อัตโนมัติ

แม้เกียร์อัตโนมัติจะแพร่หลายในไทยมามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังมีคนสับสนกับปุ่ม OVERDRIVE หรือ OD กันมาตลอด ทั้งงงว่าคืออะไร มีไว้ทำไม ทำไมรถยนต์บางุร่นไม่มี ควรเปิด-ON หรือปิด-OFF ในสภาพการขับแบบใด

OVERDRIVE คือ อะไร ?

การใช้คำนี้นั่นเองที่ทำให้เกิดความสับสน เพราะอ่านแล้วแปลออกแต่ไม่เข้าใจว่าจริงๆแล้วมีผลอย่างไรในรถยนต์ ไม่ว่าจะมีเกียร์ทั้งหมดกี่จังหวะ ถ้ามีปุ่มเปิด-ปิด OVERDRIVE ก็คือ การเปิด-ปิดเกียร์สูงที่สุด ว่าจะให้มีใช้หรือไม่

ถ้ามีเกียร์ทั้งหมด 4 จังหวะ หากปิด ก็เท่ากับมีแค่เกียร์ 1-2-3 เปลี่ยนขึ้นลงเท่านั้น ไม่ว่าความเร็วจะขึ้นไปสูงเพียงไร ก็ไม่มีการเข้าเกียร์ 4 ให้ ในรถยนต์บางรุ่นมีปุ่ม OVERDRIVE บางรุ่นไม่มี แต่ก็สามารถเลือกจะไม่ใช้เกียร์นั้นได้ โดยดูที่ฐานคันเกียร์ว่ามีตำแหน่งรองจาก D ลงไปเป็นอะไร ถ้าปกติเป็น D4 รองลงไปเป็น D3 ดังนั้นหากเลื่อนคันเกียร์ไปที่ D3 ก็คือ ปิด OVERDRIVE หรือมีใช้แค่ 3 เกียร์นั่นเอง

สำหรับรถยนต์ที่มี 5 เกียร์ การปิด OVERDRIVE ก็จะเหลือ 4 เกียร์ 1-2-3-4 โดยไม่มีเกียร์ 5 ใช้นั่นเอง

สมมุติถ้าไม่ใช้คำว่าปุ่มหรือเกียร์ OVERDRIVE หากเรียกกันว่าปุ่มเปิด-ปิดเกียร์ 4 หรือเกียร์ 5 ก็น่าจะลดความสับสนลงได้ เพราะก็แค่ไปทำความเข้าใจว่า การเปิดหรือปิดเกียร์ 4 หรือ 5 นั้นจะมีผลเช่นไรในการขับ ไม่ต้องไปงงกับคำว่า OVERDRIVE

ทำไมต้องเปิด ทำไมต้องปิด ?
รถยนต์ที่ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ ส่วนใหญ่ยกเว้นรุ่นที่เป็นรถยนต์สมรรถนะสูงจริงๆ เกียร์สุดท้ายหรือเกียร์สูงที่สุด จะเป็นเกียร์ที่มีอัตราทดต่ำ ช่วยลดรอบเครื่องยนต์ และลดการสึกหรอ ลดความสิ้นเปลืองน้ำมันฯ มีอัตราเร่งในช่วงความเร็วสูงแค่พอประมาณ แต่ไม่ดีเท่ากับเกียร์รองลงไป และถ้าไม่ได้เน้นการเร่งแซงในช่วงนั้นแบบดุดัน ก็ไม่ต้องปิด OVERDRIVE เพราะไม่ถึงกับไม่มีอัตราเร่งเลย

การปิด OVERDRIVE จะไม่ได้ทำให้อัตราเร่งในช่วงออกตัวไปจนถึงสุดเกียร์ 3 แตกต่างจากการเปิดไว้ (กรณีมีทั้งหมด 4 เกียร์) การปิดไว้ เป็นเพียงการป้องกันไม่ให้ระบบควบคุมมีการเปลี่ยนเกียร์จาก 3 ไป 4 ในช่วงที่ผู้ขับลดการกดคันเร่ง

ในการขับปกติ ควรเปิด OVERDRIVE ไว้ ดังที่เห็นว่า ในรถยนต์ส่วนใหญ่หากปิดไว้ จะมีไฟเตือนสีส้มสว่างขึ้น ชื่อก็บอกว่าเป็นไฟเตือน และยังเป็นสีส้มอีก ไม่ใช่สีเขียว จึงหมายความว่าเป็นการเตือนแบบไม่ร้ายแรง หากเปิด OVERDRIVE ไว้ จะไม่มีการเตือน นั่นแสดงกว่าเป็นภาวะปกตินั่นเอง

OVERDRIVE อัตราทดต้องต่ำกว่า 0 ใช่ไหม ?

หลายคนเข้าใจว่าเกียร์ใดที่มีอัตราทดต่ำกว่า 1 ต้องเป็นเกียร์ OVERDRIVE ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะในรถยนต์แต่ละคัน อาจมีหลายเกียร์ที่มีอัตราทดต่ำกว่า 1 ไม่ใช่เฉพาะแค่เกียร์สูงสุดเท่านั้น

ในความเป็นจริง เกียร์จังหวะใดจะเป็นเกียร์ OVERDRIVE ก็ต่อเมื่อเกียร์นั้นไม่สามารถเร่งเครื่องยนต์ไปถึงรอบที่มีแรงม้าสูงสุดได้

หากมีถนนว่างและปลอดภัย ให้ลองทดสอบดูก็ได้ว่า ในเกียร์รองลงไปและ OVERDRIVE หรือการปิด-เปิด เกียร์ใดมีอัตราเร่งดีกว่า ลากรอบเครื่องยนต์ได้สูงสุด และทำความเร็วสูงสุดได้ ถ้าจะเน้นอัตราเร่งช่วงความเร็วสูง ควรปิด

ทำได้หลายวิธี คือ เปิด OVERDRIVE แล้วกดคันเร่งให้จมเพื่อให้มีการคิกดาวน์ลงมาที่เกียร์ต่ำเอง กดคันเร่งแช่ต่อเนื่องไป หากสุดเกียร์ 3 จริงๆ แล้วถึงจะถูกเปลี่ยนไปยังเกียร์ 4 หรือ OVERDRIVE เอง แต่ถ้ามีการลดการกดคันเร่งในช่วงใด และอยู่ในเกียร์ 3 ระบบจะเปลี่ยนไปที่เกียร์ 4 ให้เอง อัตราเร่งก็จะไม่ดี หากจะเร่งต่อ ก็ต้องเสียจังหวะการคิกดาวน์ลงมาที่เกียร์ 3 อีกครั้ง หรือถ้าความเร็วสูงแล้ว ระบบก็จะไม่ยอมคิกดาวน์มาที่เกียร์ 3 ดังนั้นถ้าจะให้ดี ก็ควรปิด OVERDRIVE ไว้ในช่วงที่ต้องการอัดตราเร่งที่ดุดันในช่วงความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ในเมืองปิดหรือเปิด ?
บางคนเข้าใจว่า ในเมื่อการขับรถยนต์ในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ไม่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องเปิด OVERDRIVE ไว้ เพราะเกียร์จะต้องเปลี่ยนสลับไปมา และขึ้นไปสู่เกียร์ OVERDRIVE โดยไม่จำเป็น เพราะเดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำสลับไปสบับมาซ้ำกันบ่อยๆ คิดว่าจะทำให้เกิดทั้งการสึกหรอและการกระตุกขณะเปลี่ยนเกียร์สลับไปมา

ในความเป็นจริง แม้จะขับในเมือง ก็ควรเปิด OVERDRIVE ทิ้งไว้ตลอดหากตอนนั้นไม่ได้เน้นอัตราเร่งในช่วงความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือถึงจะเน้น แต่ใช้วิธีคิกดาวน์กดคันเร่งมิดเพื่อลดเกียร์ขณะเปิด OVERDRIVE ก็ยังได้

ถ้าใช้ความเร็วปานกลางขึ้นไป ไต่ไปอยู่เกียร์ 3 แล้ว หากจะมีการเปลี่ยนไปเข้าเกียร์ 4 (กรณีมี 4 เกียร์) แล้วมีการเปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงบ่อยๆ ก็ไม่เป็นอะไร เพราะเมื่อไรที่อยู่ในเกียร์สูงสุด ก็จะลดทั้งรอบเครื่องยนต์ ลดการสึกหรอ และประหยัดน้ำมันขึ้น เมื่อไรที่ต้องการเพิ่มอัตราเร่งก็แค่คิกดาวน์ อย่างรถยนต์ที่ไม่มีปุ่ม OVERDRIVE เข้าอยู่ในเกียร์ D หรือ D4 ก็เท่ากับเป็นการเปิด OVERDRIVE อยู่ตลอดเวลา

ปิด OVERDRIVE ช่วยเบรก

เมื่อขับรถยนต์มาด้วยความเร็วแล้วต้องการเบรก นอกจากจะกดแป้นเบรกตามปกติแล้ว หลายคนได้ใช้วิธีปิด OVERDRIVE หรือเลื่อนคันเกียร์ลงมาที่ D3 เพื่อช่วยในการเบรก

หลายคนชอบปฎิบัติเช่นนี้ เพราะต้องการใช้เครื่องยนต์ช่วยในการเบรก (ENGINE BRAKE) เหมือนการลดเกียร์ต่ำในรถยนต์เกียร์ธรรมดา ซึ่งก็ได้ผลบ้าง เพราะรถยนต์มีอาการหน่วงความเร็วลงเล็กน้อยเมื่อเกียร์ลดลงต่ำ

ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องยนต์สามารถช่วยหน่วงความเร็วในกรณีนี้ได้ก็จริง แต่ไม่มากเลย ไม่คุ้มกับการสึกหรอของชุดเกียร์และเครื่องยนต์ที่เพิ่มขึ้นเลย ทดลองได้จาก ขับรถยนต์ด้วยความเร็วปานกลางบนเส้นทางที่ปลอดภัย แล้วปิด OVERDRIVE โดยไม่ต้องกดเบรก จะพบว่ารถยนต์ถูกหน่วงก็จริง แต่แค่นิดเดียว แล้วเริ่มใหม่ กดแป้นเบรกแรงๆ โดยไม่ต้องยุ่งกับเกียร์ดูสิ หัวทิ่มเลย
ควรใช้เบรกตามหน้าที่ ใช้การลดเกียร์ต่ำเมื่อต้องการเร่งความเร็ว หรือลงเขา

BRAKE TO SLOW / GEAR TO GO
บทสรุป

ถ้ายังงง ให้ลืมคำว่า OVERDRIVE ไป เปลี่ยนเป็นการเปิดใช้หรือไม่ใช้เกียร์ 4 (ในกรณีที่มีทั้งหมด 4 เกียร์) เมื่อไรที่อยู่ในเกียร์นั้น จะช่วยลดรอบเครื่องยนต์ ให้ความประหยัดน้ำมันฯ และลดการสึกหรอ แต่อัตราเร่งจะไม่ดีเท่าเกียร์รองลงไป

ปฏิบัติง่ายๆ เปิด OVERDRIVE ไว้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะขับในเมืองหรือต่างจังหวัด หากต้องการอัตราเร่งดีๆ เมื่อไร ให้กดคันเร่งจมมิดเพื่อคิกดาวน์แล้วแช่ไว้ หรือหากช่วงใดต้องการอัตราเร่งที่ดีในช่วงความเร็วสูงแล้วไม่อยากให้เกียร์เปลี่ยนไปๆ มาๆ ระหว่าง 3 กับ 4 ก็ให้ปิด OVERDRIVE ขับ เมื่อพ้นจากสถานะการณ์นั้นแล้ว ให้กลับมาเปิดใช้ตามปกติ

================================ คัดลอกจากบทความเรื่องเกียร์OVER DRIVE ในเกียร์อัตโนมัติ โดย วรพล สิงห์เขียวพงษ์